ศิลปะและวัฒนธรรม (Arts and Cultures)
ประเทศอุซเบกิสถานมีจำนวนประชากรประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งประกอบไปด้วยชนชาติอุซเบก รัสเซีย และกลุ่มประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในโซนเอเชียกลางทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน และเติร์กเมนิสถาน เข้ามาอาศัยปะปนอยู่ด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ที่นี่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นเชื้อชาติเดียวได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม CIS (The Commonwealth of Independent States) ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศที่เกิดจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศจะมีอายุอยู่ในวัย 20 ต้นๆ ซึ่งเป็นวัยหนุ่มสาวที่พร้อมจะเปิดรับกระแสสังคมสมัยใหม่และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศอย่างเต็มที่ ชาวอุซเบกส่วนมากจะแต่งงานและมีครอบครัวกันในช่วงอายุ 20-30 ปี และก็เป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างมากเมื่อได้ทราบว่า อุซเบกิสถานเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีสถิติการหย่าร้างค่อนข้างต่ำอีกประเทศหนึ่งด้วย
ส่วนด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้นก็ยังมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ไม่สูงมากนัก และเป็นประเทศที่ไม่ค่อยจะมีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโดยพื้นฐานของชาวอุซเบกนั้นเป็นคนเรียบง่าย มีน้ำใจและยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนๆกับชาวไทยเรานี่เอง
สำหรับคุณภาพทางการศึกษาของชาวอุซเบ๊ก เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีอีกแห่งหนึ่งของโลก เพราะประชากรกว่า 99% ของประเทศได้รับการศึกษาที่ดี สามารถอ่านออกเขียนได้ โดยเริ่มปลูกฝังให้เรียนรู้เรื่องในด้านต่างๆศิลปะ ดนตรี ทักษะ ภาษาต่างประเทศ ไปจนถึงพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์กันตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเลยทีเดียว
ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอาเมียร์ ตีมูร์ในอดีตนั้น ส่งผลให้อุซเบกิสถานมีความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก โดยงานศิลปะส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เน้นความละเอียดและมีความอ่อนช้อย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผลงานที่ประณีตในแต่ละชิ้นนั้น นอกจากเป็นคนที่ละเอียดอ่อนแล้ว ต้องอาศัยความอดทนและความใจเย็นอย่างมาก แม้แต่งานสถาปัตยกรรมที่เห็นกันทั่วไป จะมีการลงรายละเอียดในทุกๆ องค์ประกอบเลยทีเดียว
เรื่องอาหารการกินของชาวอุซเบ๊ก เนื่องจากบ้านเมืองค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตรได้ดี วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารจึงได้มาจากผลผลิตภายในประเทศเป็นหลัก แต่หากใครคิดว่าเมนูอาหารของชาวอุซเบ๊กจะเน้นเครื่องเทศรสจัด เพราะจากการสำรวจด้านตลาดแล้ว พบว่าที่นี่มีการผสมผสานระหว่างรสจืดและรสจัดคละเคล้ากันไป ถึงแม้สินค้าจำพวกเครื่องเทศหลายชนิดยังวางขายเรียงรายอยู่ในท้องตลาด แต่อาหารหลักของที่นี่กลับเป็นขนมปังพื้นเมืองซึ่งกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้เฉพาะในอุซเบกิสถานเท่านั้น
ขนมปังพื้นเมืองของชาวอุซเบกนี้เรียกว่า นอน (Non) ซึ่งเป็นแผ่นกลมขนาดใหญ่ เวลารับประทานก็จะใช้มือบิออกหรือใช้มีดหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วแบ่งกันรับประทาน ชาวอุซเบ๊กเชื่อว่า ขนมปังที่เรียกว่านอนนี้ ยังสื่อความหมายในงานมงคลอีกด้วย โดยในงานแต่งงานของชาวอุซเบ๊กนั้น ครอบครัวของบ่าวสาวจะบิขนมปังออกแบ่งกัน เพื่อเป็นการสื่อความหมายว่าทั้งสองครอบครัวได้กินขนมปังชิ้นเดียวกันและกลายเป็นครอบครัวเดียวกันแล้วนั่นเอง
การที่ประเทศนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน ซึ่งในช่วงนั้นทางสหภาพโซเวียตมีนโยบายกระจายการผลิตไปยังแต่ละประเทศและส่งสินค้ากลับเข้าไปที่ส่วนกลาง ทำให้แต่ละประเทศถูกวางบทบาทให้เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหรือสินค้าเฉพาะอย่างเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการล่มสลายของสหภาพโซเวียตลง สิ่งที่เป็นปัญหาตามมา คือ แต่ละประเทศไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง เพราะกระบวนการผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบต่าง ๆไม่เบ็ดเสร็จครบวงจรอีกต่อไปแล้ว เป็นเหตุให้ประเทศเหล่านั้นต่างต้องจับมือกันอย่างเหนียวแน่นเพื่ออุปถัมภ์เกื้อกูลกัน ตลอดจนการมองหามิตรใหม่ๆ เพื่อขยายศักยภาพประเทศของตนต่อไป
สิ่งที่ตามมาก็ คือว่า อุซเบกิสถานต้องการบุคคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่มาร่วมเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าคนที่นี่ทำงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย และยิ่งใครมีศักยภาพด้านภาษาอังกฤษด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสได้งานดีๆมากกว่าคนทั่วไป
สิ่งหนึ่งที่ค้นพบได้ก็ คือว่า ไม่เพียงแต่นโยบายส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลางแล้ว แต่ภายหลังจากหลุดพ้นอำนาจของสหภาพโซเวียต อุซเบกิสถานยังพยายามปลูกฝังให้เยาวชนมีนโยบายการเมืองแบบชาตินิยมขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งประธานาธิบดีอิสลาม คาริมอฟ ได้จัดทำอุดมการณ์เอกราชแห่งชาติซึ่งเป็นเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ โดยกระจายผ่านทางสื่อมวลชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐเพื่อใช้เป็นแบบแผนการปกครองแบบชาตินิยมให้มีความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจร่วมกันทุกฝ่าย
ความเป็นมุสลิมสายกลางของประเทศอุซเบกิสถาน เป็นข้อดีที่ทำให้ชาวต่างชาติต่างศาสนาไม่รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และทำความรู้จักผู้คนของประเทศนี้ เพราะคำว่ามุสลิมสายกลางนั้น เป็นการเปิดประตูยอมรับวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมก็ คือว่า การผสมผสานของความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมสมัยใหม่ยังอยู่ในสัดส่วนที่ลงตัวจนไม่เกิดเป็นปัญหา เพราะอุซเบกิสถานมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง และความเป็นสังคมเรียบง่ายที่ไม่มุ่งเน้นด้านทุนนิยมจนสุดโต่งนี้เอง จึงทำให้ทุกวันนี้สังคมของชาวอุซเบ๊กยังคงดำเนินชีวิตตามวิถีของความเรียบง่ายท่ามกลางกระแสของความเจริญได้อย่างราบรื่น
เยาวชนอุซเบ๊กยังคงปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่บรรพบุรุษของเขายืดถือกันมาแต่เดิม เด็กหนุ่มมากมายที่ปรารถนาจะเป็นอิหม่ามต่างตบเท้าเข้าศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนา โดยมีความหวังว่าพวกเขาจะได้เป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่และเป็นหนึ่งในผู้นำศาสนาได้ในอนาคต
พลังแห่งการสร้างสรรค์ของเด็กๆ มักจะมีความสดใสและความกล้าคิดกล้าทำอยู่ในตัว อาจเป็นเพราะว่านอกจากอุซเบกิสถานจะส่งเสริมให้เยาวชนที่นี่เห็นความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพทางจิตวิญญาณแล้ว พวกเขายังได้รับการปลูกฝังการพัฒนาการทางด้านร่างกายอีกด้วย เพราะนับตั้งแต่การเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในนามของประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1994 นักกีฬาหญิงประเภทฟรีสไตล์สกีเป็นผู้ได้ชัยชนะมาชื่นชม
เสื้อผ้าและการแต่งกาย (Traditional Clothing )
เครื่องแต่งกายของชาวอุซเบ๊กดั้งเดิมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังคงอยู่จนกระทั่งสิ้นสุดของศตวรรษที่19 เพราะในประเทศเป็นชาวมุสลิมทั้งหมด ชนชาวมุสลิมในอุเบกิสถานได้มีการสะท้อนในเรื่องของเครื่องแต่งกาย ผู้ชายและผู้หญิงแต่งกายจากเสื้อผ้าที่มีจำกัดในตู้เสื้อผ้า รวมถึงเสื้อคลุมที่ใหญ่ยาวและมีแขน กางเกงขายาว และเสื้อคลุมสั้น
สไตล์ของเสื้อผ้าอาภรณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสำหรับชายหญิง และชนชั้นของสังคมทั้งหมด เช่น ความแตกต่างของการสวมใส่เสื้อคลุมที่มีแขนยาวและคลุมไปถึงหัวเข่า และขึ้นอยู่กับขอบของเสื้อผ้า สำหรับผู้ชายขอบจะนอนขวาง และสำหรับผู้หญิงขอบจะตั้งตรงขึ้นไป สำหรับผู้ชายที่เรียกว่า คาลัท (Khalat) และของผู้หญิงก็จะมีแขนยาวถึงข้อมือ สำหรับคนที่ความมั่งคั่งร่ำรวยก็จะแต่งกายเด่นต่างจากพวกคนจน โดยคุณภาพที่เหนือกว่าของวัตถุสิ่งทอ เครื่องประดับที่แพงมากกว่า และการประดับตบแต่งของเครื่องแต่งกาย เช่นเดียวกันกับการถักลวดลายของเสื้อผ้า และความนูนหนาของลวดลายต่างๆ
ทั้งที่มีความคล้ายคลึงกันเรื่องการแต่งกาย ซึ่งแต่และกลุ่มชนต่างๆ ก็จะสร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ผสมผสานในเรื่องของการออกแบบ แถบสี สิ่งทอ และตบแต่งภายในชนกลุ่มน้อย เครื่องแต่งกายที่แตกต่างเพราะว่าคนละครอบครัวที่แต่ละคนจะต้องทำด้าย ทอผ้า และสีย้อมผ้า และทอด้วยตนอง สิ่งต่างๆ นี้ที่ให้เกิดความมีสีสันหลากหลายของชาวอุซเบ๊กที่จะแต่งกายตามวัฒนธรรมดั้งเดิม
ดนตรี(Music)
ทางด้านการดนตรีของชาวอุซเบ๊ก ได้เกิดขึ้นมานานแล้วและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของเอเชียกลาง ซึ่งเชื่อกันว่าได้เกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 16 ที่เมืองบูคาร่าและซามาร์คานด์ ซี่งมีพื้นฐานและคล้ายคลึงกับชาวเปอร์เซีย และภายหลังที่จักรวรรดิเตอร์เกสถานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าชาร์แห่งรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ทางดนตรีของชาวรัสเซียก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติในบริเวณดินแดนเอเซียกลางแห่งนี้
ในปี ค.ศ.1950 เพลงพื้นเมืองของชาวอุซเบ๊กก็เริ่มได้รับนิยมน้อยลง และได้หันไปฟังเพลงของรัสเซียทางสถานีวิทยุ แต่ภายหลังจากปี ค.ศ.1990 ที่ประเทศฯได้รับเอกราช เสียงเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติก็ได้กับคืนมาและทุกวันนี้ตามสถานีวิทยุและโทรทัศน์ก็ได้มีการแสดงเพลงประจำชาติของตนเอง
อาหารและเครื่องดื่ม (Foods and Drinks)
อาหาร ประจำชาติของชาวอุซเบก เป็นอาหารที่เหมือนกับชนชาติอื่นๆที่รับประทานกันแถวในประเทศบริเวณเอเซียกลาง จะประกอบด้วยสารอาหารที่เป็นโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และพืชผักต่างๆ ซึ่งถูกลักษณะอนามัย และเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือรสชาติของอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดมิได้และเครื่องเคียงในการปรุงรสอาหารที่เป็นเครื่องเทศ และผักต่างๆ
อาหารหลักๆ ของอุซเบกิสถานที่นิยมปรุงจำหน่ายกัน ในตามภัตตาคารต่างๆ และในโรงแรมที่พัก จะมีลักษณะคล้ายคลึงผสมผสานกันระหว่างอาหาร ซึ่งนักท่องเที่ยวก็สามารถรับประทานได้ ซึ่งจะขอแนะนำอาหารต่างๆดังนี้
พาลอฟ (Palov) เป็นอาหารหลักและเป็นความภูมิใจอย่างมากของชาวอุซเบกทุกคน ซึ่งจะต้องรับประทานกันทุกวัน ก็คือ นำเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง เนื้อวัว แพะ แกะ ไก่ ซึ่งเนื้อสัตว์ต่างๆเหล่านี้จะถูกนำมาหมักและปรุงรสต่างๆ ผสมด้วยเครื่องเทศ แคร์รอต และข้าว และอาจจะเพิ่มลูกเกด บาร์เบอร์รี่ ถั่วสีเหลือง และผลไม้บางอย่าง หลังจากนั้นก็จะนำไปใส่ในเครื่องหุงต้มอาหารที่ใช้กำลังอัดไอน้ำ ( Pressure Cooker) หุงจนได้ที่และตักออกมาซึ่งจะมีความเอร็ดอร่อยมาก
ซุปอุกรา เป็นซุปเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ชาวอุซเบกนิยมรับประทานกันทั่วไป และชอบนิยมทำกันที่บ้าน จะมีรสชาติแตกต่างกันออกไปตามแต่การปรุงสิ่งต่างๆลงไป เช่น นม หรือนมเปรี้ยว ซึ่งเป็นที่นิยมกันโดยแต่ละท้องถิ่น ที่ทาซเค้นท์ บูคาร่า ซามาร์คานด์
นมเปรี้ยว เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่นิยมรับประทานกันทุกครัวเรือน นมเปรี้ยวเป็นอาหารประจำวันที่จะช่วยเสริมสารอาหารแก่ร่างกาย ให้มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งจะทำให้เกิดพลังงาน ไม่อ่อนเพลีย มีความอดทนสูง และอายุยืนยาว
แผ่นแป้งนอน (Non) เป็นเสมือนขนมปังที่จะต้องรับประทานกันทุกครัวเรือนซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ อย่างหนา บาง กรอบ และนิ่ม นิยมรับประทานกับเนย เนยแข็ง น้ำผึ้ง และแยมผลไม้ต่างๆ
ของหวานมันที่ (Manty) หลังจากที่รับประทานอาหารหลักแล้ว ก็ต้องตามด้วยของหวาน ซึ่งเป็นที่นิยมและภูมิใจของชาวอุซเบกอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ขนมมันที่ ที่จะต้องนำมาเสริฟหลังอาหารหลักทุกครั้ง โดยเฉพาะที่เมืองซามาร์คานด์ ทาซเค้นท์ และบูคาร่า ขนมมันที่ เป็นหนึ่งในขนมที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด เครื่องดื่ม จะเป็นน้ำธรรมดา น้ำอัดลม วอดก้า เบียร์ ไวน์ และเหล้าท้องถิ่นที่มีชื่อว่า คูมูส (Kumus) ที่ทำ
มาจากนมของม้า แต่สำหรับชาวอุซเบกจะชอบดื่มกันมาก ก็คือ น้ำชา ซึ่งจะมีสถานที่จำหน่ายน้ำชาโดยเฉพาะ เรียกว่า เชย์คาน่า(Chaykhana) หรือ ทีเฮ้าส (Tea House) หรือแม้แต่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ที่บริเวณบ้านที่อยู่อาศัย ก็จะมีการล้อมวงดื่มน้ำชาและคุยกัน ถึงแม้จะเป็นพวกศิลปินต่างๆ และจิตกรที่หลงใหลในความดื่มด่ำของสีต่างๆ ก็จะมาร่วมวงดื่มน้ำชากันโดยที่ไม่ต้องมีชีวิตที่เร่งรีบ
ผลไม้และถั่วต่างๆ (Fruits and Nuts)
ทับทิม เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดและมีชื่อเสียงของอิหร่านมาเป็นเวลานานตั้งแต่ประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล มีการเพาะปลูกทับทิมกันมากและชาวเปอร์เซียได้ใช้น้ำทับทิมทำไซรัปและจากนั้นก็ได้มีบทบาทและขยายพันธุ์ออกไปอีกหลายประเทศในเอเชียกลาง อาร์เมเนีย อะเซอร์ไบจาน และประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนั้นก็มีปากีสถาน อัฟกานิสถาน อินเดีย จีน จนกระทั่งข้ามไปถึงฝั่งอเมริกาที่คาลิฟอร์เนีย โดยชาวสเปนที่ได้เริ่มตั้งรกรากที่นั่น
พบหลักฐานในประเทศอียิปต์ก่อนยุคโมเสส ชาวอาหรับที่ท่องไปในทะเลทรายจะนำลูกทับทิมไปด้วยเพื่อไว้กินน้ำ ชาวเปอร์เซียใช้น้ำทับทิมทำไซรัปและน้ำทับทิมเข้มข้น อาหารตุรกีก็นำน้ำทับทิมปรุงเป็นน้ำสลัด เมล็ดทับทิมตากแห้งก็ใช้ทำของหวาน ชาวอินเดียก็มีตำรับอายุรเวชในการใช้ทับทิมทำเป็นยา และทำน้ำคั้นทัมทิมที่เรียกว่า กรานาดีน และใช้เป็นเครื่องดื่มผสมในค๊อกเทล
จากการศึกษาเรื่องทับทิม การแพทย์โบราณของเปอร์เซีย ระบุว่าน้ำทับทิมมีผลประโยชน์อย่างมากต่อร่างกายเมื่อได้ดื่มวันละแก้ว จะช่วยส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือดหัวใจและตับ ช่วยฟอกไตและท่อปัสสาวะ เป็นยาบำรุงกำลัง ฟอกโลหิต ขจัดไขมันส่วนเกิน จากการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ของอเมริกา น้ำทับทิมมีผลประโยชน์ต่อร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ช่วยลดสภาวะการแข็งตัวของเส้นเลือดจากไขมันในเลือดสูงได้
อินทผลัม เป็นต้นไม้จำพวกปาล์ม ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในอิหร่านมาตั้งแต่ประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้วเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายประเทศแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ ยูเฟรตีส ทางด้านเหนือของอินเดีย ในภายหลังได้มีการขยายพันธุ์ไปยังที่ต่างๆโดยพวกเร่ร่อนอยู่ในทะเลทรายของอาหรับ แถบประเทศบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จนเข้าไปถึงในสเปน
ในการสำรวจ ซึ่งปัจจุบันนี้ต้นอินทผลัมได้ถูกปลูกกันมากตามประเทศต่างๆ มีจำนวนประมาณ 25 ล้านต้น ให้ผลผลิตลูกอินทผลัมได้ปีละประมาณ 600,000 ตัน ประเทศซาอุดิ อารเบีย โดยรัฐบาลได้ลงทุนและส่งเสริมโดยใช้เทคโนโลยีในการปลูกต้นปาล์มอินทผลัมมากที่สุดในโลก ซึ่งมีจำนวนประมาณ 11 ล้านต้น ผลิตผลได้ปีละประมาณเกือบ 500,000 ตัน
พิสตาชิโอ เป็นผลไม้เปลือกแข็ง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในอิหร่านมาตั้งแต่ประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว เริ่มมีการเพาะปลูกกันในบริเวณโคราซาน และทรานโซซาเนีย และหลังจากนั้นก็ได้ขยายออกไปยังเติร์กเมนิสถานอุซเบกิสถาน ทาจิคิสถาน และบางส่วนของอัฟกานิสถาน ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายออกไปทางประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
จากการสำรวจผลผลิตของการเพาะปลูกพิสตาชิโอ เมื่อปี ค.ศ.2004 อิหร่านได้มีการส่งเสริมการเพาะปลูกและการผลิตเป็นอุตสาหกรรมในการส่งออก ซึ่งใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกถึงประมาณ 300,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 18,000,000 ไร่ บริเวณพื้นที่ที่ปลูกมากที่สุด คือ ที่เคอร์มาน ร้อยละ 83 ที่โคราซาน ร้อยละ 5 ที่ยาซ์ด ร้อยละ 5 และที่เหลือเป็นบริเวณพื้นที่อื่นๆอีกร้อยละ 7 ผลผลิตของพิสตาชิโอที่ได้แต่ละปีประมาณ 89.7-90 พันตัน จากต้นพิสตาชิโอที่พร้อมให้ผลผลิตได้ในจำนวนประมาณ 224,000 ต้น และยังมีต้นพิสตาชิโอซึ่งกำลังเติบโตอยู่อีกประมาณ 66,000 ต้น
อัลมอนด์ เป็นผลไม้เปลือกแข็ง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในบริเวณด้านตะวันออกของอิหร่าน ซึ่งอยู่ติดกับปากีสถาน นอกจากนั้นยังมีการเพาะปลูกกันมากในเอเชียกลาง ซีเรีย ตุรกี ซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปขยายพันธุ์ตามบริเวณริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จนถึงด้านเหนือของอัฟริกาและตอนใต้ของยุโรป และหลังจากนั้นก็ได้มีการปลูกกันมากตามส่วนต่างๆของโลกในปี 2006 องค์การอาหารและเกษตรได้รวบรวมตัวเลขผลผลิตทั่วทั้งโลกผลิตได้ประมาณ 1.76 ล้านตัน สหรัฐอเมริกาผลิตได้ 41 % สเปนผลิตได้ 13 % อิตาลีผลิตได้ 6% ซีเรียผลิตได้ 7% อิหร่านผลิตได้ 6 % (ประมาณ120,000 ตัน)
วอลนัท เป็นผลไม้เปลือกแข็งอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในบริเวณด้านบอลข่าน ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปแถบเอเชียกลาง จนถึงบริเวณเทือกเขาหิมาลัยและด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในปี 2006 องค์การอาหารและเกษตรได้รวบรวมตัวเลขผลผลิตทั่วทั้งโลกที่ผลิตวอลนัทได้ปริมาณมากที่สุดในโลกคืออิหร่าน ที่เมืองชาห์เมียซาดมีพื้นที่สวนที่ปลูกต้นวอลนัทประมาณ 4,500-5,000 ไร่วอลนัทมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก วอลนัท 50 กรัม จะให้คุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับนมโค 500 กรัม หรือไข่ไก่ 250 กรัม เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
องุ่นสดและแห้ง องุ่นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากดินแดนแถบบริเวณทวีปยุโรปเฉียงใต้ และได้ถูกนำมาขยายพันธุ์ทางด้านในแถบประเทศด้านบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและบริเวณเอเชียกลางตลอดจนถึงประเทศจีน คือ สเปน ปอร์ตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี โรเมเนีย ตุรกี อิหร่านและเลบานอน นอกจากนั้นยังได้มีการนำพันธุ์เข้าไปยังทวีปอเมริกา อาร์เจนตินาและออสเตรเลียผลิตผลขององุ่นมีหลายพันธุ์และหลายสี ได้แก่ สีแดงแก่ น้ำเงินแก่ ชมพูเหลือง เขียวและเขียวอ่อน ซึ่งลูกองุ่นสดรวมกันทั่วทั้งโลกได้ถูกนำไปหมักทำเป็นเหล้าและไวน์ประมาณร้อยละ 70 รับประทานสดๆร้อยละ 28 และที่เหลือถูกนำไปทำเป็นองุ่นแห้ง ส่วนในประเทศอิหร่านแต่ละปีจะมีผลผลิตได้ปีละประมาณ 3,000,000 ตัน
แอปปริคอท หรือบ๊วยเป็นไม้ผลเมืองหนาวที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศอาร์เมเนียและต่อมาได้ขยายพันธุ์ไปยังด้านแถบบริเวณประเทศในเอเชียกลาง รวมทั้งอิหร่านและด้านตะวันตกของจีน และยังมีเกาหลีและญี่ปุ่น นอกจากนั้นมีการปลูกในประเทศอินเดียมานานประมาณกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยมีการแพร่ขยายออกไปจากเส้นทางสายไหมแอปปริคอท/บ๊วยเป็นพืชที่จัดอยู่ในสกุลเดียวกับท้อ พลับ หรือลูกพรุน ลักษณะผลกลมเมื่อยังเล็กมีสีเขียว แต่มีผลแก่เต็มที่จะมีสีเหลืองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร รสขมอมเปรี้ยวและมีกลิ่นหอม ในญี่ปุ่นและไต้หวันผลจะแก่และเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม
มะเดื่อหรือลูกฟิก เป็นผลไม้ตามฤดูกาลที่พบในบางพื้นที่ทางตะวันตกของเอเชีย เอเซียกลาง แต่หากเป็นมะเดื่อแห้งจะหาได้โดยทั่วไป ต้นมะเดื่อเป็นพืชอย่างหนึ่งในตระกูลมัลเบอร์รี่ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพของมะเดื่ออยู่ในรูปของแร่ธาตุและวิตามิน มะเดื่ออุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 2 แคลเซี่ยม เหล็ก ฟอสฟอรัส แมงกานีส โซเดียม โปแตสเซียม และคลอรีน ฯ
แตงเมล่อน หรือเป็นแตงที่มีลักษณะคล้ายกับแตงไทยของบ้านเราที่มีรสจืด แต่แตงเมล่อนของอุซเบกฯพันธุ์นี้มีรสชาติที่หวานมากๆ รับประทานแล้วชื่นใจ มีน้ำหวานฉ่ำในตัวของมันเองประมาณมากกว่าร้อยละ 19 ซึ่งส่วนมากจะเป็นน้ำตาลซูโคส นอกจากนั้นยังประกอบไปด้วยวิตามิน กรดออร์แกนิค คาโรทีน ในน้ำหนักของแตงแต่ละลูกยังประกอบไปด้วยเกลือแร่ ที่ให้พลังงานสูงประมาณ 39 kcal/100 g ของผลิตผล นอกจากนั้นยังมีแตงโม ที่มีสีเนื้อไม่แดงมากนัก แต่ว่ามีรสชาติหวานที่มีน้ำตาลประมาณร้อยละ 8-10 ของผลผลิต
www.anusha.com – SILK ROAD
by Haji Ismail Sloan
โดย ประสม ปริปุณณานนท์ <[email protected]>