เส้นทางสายไหม (The Silk Road/Silk Route)
จากประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นไม่มีใครทราบว่าเส้นทางสายไหมเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครเป็นผู้ก่อตั้งเริ่มต้นมาก่อน แต่ในยุคโบราณได้กล่าวถึงเส้นทางค้าขายระหว่างประเทศไว้มากมายหลายประเทศ เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางการค้าของโลกในยุคโบราณ ในช่วงที่เทคโนโลยี่เกี่ยวกับการเดินเรือสินค้าไม่ได้มีการพัฒนาเท่าใดนัก จึงเป็นการเดินทางภาคพื้นดินของพ่อค้า กองคาราวานสินค้า นักบวช นักจาริกแสวงบุญและผู้คนหลากหลายอาชีพที่ต่างชนชาติและวัฒนธรรมที่ได้เชื่อมต่อกัน โดยเริ่มต้นจากจีนไปสู่อินเดีย จากจีนไปสู่ตะวันออกกลางและจากจีนไปยังกรุงโรม
ทำไมจึงใช้ชื่อว่า เส้นทางสายไหม คงต้องย้อนไปกล่าวถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก่อน ซึ่งสันนิษฐานว่าเริ่มต้นในประเทศจีนเมื่อประมาณ 4,700 ปีมาแล้ว มีตำนานเล่าว่าพระนางซีลิงสี (Xi Ling Shi) พระมเหสีของจักรพรรดิชวนหยวน (Xaun Yuan) ได้พบรังไหมโดยบังเอิญ ขณะประทับในพระราชอุทยาน พระนางทรงเห็นรังไหมอยู่บนต้นหม่อน ลักษณะเป็นรังสีขาวนวล จึงให้นางกำนัลเก็บมาถวาย แต่นางกำนัลทำรังไหมตกลงในถ้วยน้ำร้อนโดยอุบัติเหตุ และเมื่อดึงรังไหมขึ้นมาก็ได้เส้นใยที่เลื่อมมันและอ่อนนุ่มจึงลองนำเส้นใยที่ได้ไปทอเป็นผ้า เพื่อถวายพระจักรพรรดิ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานมาก จึงโปรดให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพระราชวัง ต่อมาจึงนำออกเผยแพร่ให้แก่ราษฎร์ทั่วไป ราษฎร์จึงขนานนามพระนางซีลิงสีว่า พระนางแห่งไหม และจัดให้มีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี
ในสมัยของราชวงศ์ฮั่น (ในราวปี 206 ก่อนคริสตกาล จนถึงคริสตศักราช 220)ได้มีการไปสำรวจเส้นทางด้านตะวันตกเป็นครั้งแรก ซึ่งเกิดขึ้นจากการรุกรานของพวกเซี่ยงนู (Xiongnu) ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของบริเวณพื้นที่แห่งนี้ พวกเซี่ยงนูเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่มีขนาดใหญ่และยังสามารถปราบปรามชนเผ่าเร่ร่อนอื่นๆหลายเผ่าได้เป็นผลสำเร็จ และได้เริ่มหันมารุกรานจีนจนทำให้บริเวณชายแดนด้านตะวันตกเริ่มสั่นคลอน ต่อมาจักรพรรดิฮั่นวู่ตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น จึงได้ใช้นโยบายทางการทูตผสมผสานกับการทำสงคราม โดยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเผ่ายูชชิ (Yuch-chi) ซึ่งต่อมาได้อพยพลงมาทางด้านใต้กลายเป็นอาณาจักรคูชาน (Kushan Empire) อันยิ่งใหญ่ ที่ได้เข้าครอบครองแคว้นคันธาระและอินเดียทางตอนเหนือ และได้ใช้กำลังทหารไปปราบปรามทำสงครามกับเผ่าเซี่ยงหนูเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมาซึ่งจีนเรียกว่า กุ้ยชาง (Guishang) และสันสกฤตเรียกว่า กุษาณะ (Kushana)
ต่อมาองค์จักรพรรดิฯได้มีการส่งทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตกโดยเริ่มต้นจากเมืองฉางอันในอดีต (Chang an) ปัจจุบันเรียกชื่อ ซีอาน (Xian) ซึ่งเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในมณฑลส่านซี (Shaanxi) ผ่านมณฑลกันซู่ (Gansu) เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง (Xinjiang) ข้ามเทือกเขาพามีร์ (Pamir) สู่ประเทศอัฟกานิสถานและอิหร่าน อีกเส้นทางหนึ่งจะเดินทางตอนใต้ ของประเทศรัสเซีย เข้าสู่ประเทศเอเชียกลางไปยังประเทศแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเส้นทาง เหล่านี้ยาวมากกว่า 10,000 กิโลเมตร เป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศในเอเชียกลางในยุคนี้เส้นทางนี้รู้จักในนาม เส้นทางสายไหม
จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางสายไหม คือเส้นทางของขบวนคาราวานที่ใช้เป็นเส้นทาง (Road) ในการเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมืองๆหนึ่งไปยังเมืองอีกเมืองหนึ่ง จึงก่อให้เกิดจากขยายตัวทางเศรษฐกิจในยุคโบราณ และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (Culture) จนพัฒนากลายเป็นอารยธรรม (Civilization) โบราณอันยิ่งใหญ่สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น การเลี้ยงไหม การผลิตผ้าไหม การทำเครื่องปั้นดินเผา อาหารเครื่องเทศ เป็นต้น
เส้นทางสายไหมมีประวัติศาสตร์เริ่มต้นในหมู่ภูมิภาคเอเชียใต้ที่เชื่อมเมืองต่างๆ ระหว่างเอเชียไมเนอร์ไปถึงประเทศจีน โดยขนส่งสินค้าสำคัญได้แก่ เส้นไหม ผ้าไหม และเครื่องเทศ เป็นต้น ต่อมามีการพัฒนาติดต่อค้าขายออกไปหลายทวีปมากขึ้น จนเกิดเป็นเส้นทางสายไหมอันยาวไกลตั้งแต่ อียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย จีน โรมัน เปอร์เซียและอินเดีย ต่อมาได้เกิดสงครามครูเสดเกิดขึ้นในระหว่างช่วงศตวรรษที่ 11 และประเทศจีน ยุโรปตะวันออกถูกรุกรานโดยชนเผ่ามองโกล ทำให้เส้นทางสายไหมถูกงดใช้ไปชั่วคราว จนช่วงหลังสงครามประมาณคริสตศตวรรษที่ 12 หลังการรุ่งเรืองของจักรวรรดิมองโกลอันยิ่งใหญ่ เส้นทางสายไหมกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง
มาร์โค โปโล (Marco Polo /1254 – 1324) เกิด ณ เมืองเวนีสประเทศอิตาลี เขาเป็นนักเดินทางและนักสำรวจชาวอิตาลี ได้เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางผ่านเส้นทางสายไหมไปถึงประเทศจีน และได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิกุบไล ข่าน (Kublai Khan) แห่งราชวงศ์หยวน ผู้เป็นหลานปู่ของเจงกีส ข่าน และได้ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองหางโจวช่วยงานราชสำนักถึง 17 ปี ก่อนเดินทางกลับบ้านเกิด การเดินทางของเขาถูกบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ อิล มีลีโอเน (Il Milione) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล ในหนังสือเล่มดังกล่าว เขาได้อธิบายถึงทวีปๆหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันเลยสำหรับชาวยุโรปในยุคสมัยของเขา เขาได้บรรยายถึงอารยธรรมเกี่ยวกับจีน ซึ่งเจริญเหนือกว่าวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของชาวยุโรป แต่เนื่องจากว่าบางส่วน มีนัยที่เป็นไปในเชิงยกยอปอปั้น หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้รับการพิจารณาในสาระสำคัญ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เสกสรรขึ้นมา และเป็นเรื่องที่เกินความจริงไป จนกระทั่งคริสตศตวรรษที่ 19 นักวิชาการและบรรดานักสำรวจทั้งหลาย จึงยืนยันถึงความถูกต้องเที่ยงตรงโดยทั่วๆไป เกี่ยวกับการสังเกตการณ์ของมาร์โค โปโล ซึ่งทำให้หนังสือของมาร์โค โปโล เป็นสิ่งยืนยันได้ชัดเจนว่า เส้นทางสายไหมมีอยู่จริงและสิ่งที่มาร์โค โปโล เขียนนั้นเป็นความจริง
ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ยังมีการแพร่กระจาย โดยการเดินทางทางทะเลไปยังคาบสมุทรเปอร์เซียและประเทศแถบชายฝั่งทะเลอาหรับ (Arabian Sea) หลังจากนั้นจึงแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ทำให้เส้นทางสายไหมยังรวมเส้นทางการเดินทางทางทะเลอีกด้วย เส้นทางสายไหมจึงขยายไปยังญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย อิตาลี โปรตุเกส และสวีเดน เป็นต้น
เส้นทางสายไหมจึงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการขยายตัวทางอารยธรรมโลกในยุคโบราณ จากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันโดยใช้การค้าขาย การทำสงคราม และการติดต่อกันระหว่างประเทศ
ช่วงประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายจากประเทศจีนไปยังประเทศเกาหลี หลังจากนั้น อีกประมาณ 300 ปี ได้แพร่กระจายจากประเทศเกาหลีไปสู่ประเทศญี่ปุ่น
ช่วงประมาณคริสตกาล การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศอินเดียและคาบสมุทรอินโดจีน ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ต่อจากนั้น จึงแพร่กระจายไปสู่ประเทศอินโดนีเซีย
ช่วงประมาณศตวรรษที่ 9 -11 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศอียิปต์ ประเทศชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปอัฟริกา ประเทศสเปนและเกาะซิลี ต่อจากนั้นจึงแพร่กระจายไปยังแถบทางตอนไต้ ของประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นไหมเดินทางผ่าน
ช่วงประมาณศตวรรษที่ 12-13 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกระจายไปสู่ประเทศอิตาลี
ช่วงประมาณศตวรรษที่ 14 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศฝรั่งเศส ประมาณปี ค.ศ. 1522 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ทวีปอเมริกาโดยสเปน ซึ่งได้เข้าไปปกครองเม็กซิโก ผู้ปกครองชาวเสปน บังคับให้ราษฎรแถบชานเมืองปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หลังจากนั้นได้แพร่กระจายไปยังประเทศแถบทวีบอเมริกาไต้ เช่น สหรัฐอเมริกา เปรูและบราซิล
เส้นทางสายไหมนี้ ยังเป็นที่ตั้งของถ้ำทางพุทธศาสนาหรือเมืองตุนหวง(Dunhuang) กล่าวถึงการเดินทางของพระถังซัมจั๋งไปยังชมพูทวีป ยังส่งผลให้พุทธศาสนาอันรุ่งเรืองจากประเทศอินเดีย ได้แผ่ขยายมาสู่แผ่นดินจีนผ่านเส้นทางสายประวัติศาสตร์นี้เช่นกัน
พระถังซัมจั๋ง (Tong Saamzong Monk/ปี ค.ศ.602– ปี ค.ศ. 664) เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน เดิมชื่อ ซูอันจัง (Xuanzang) เป็นพระที่บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา มาแต่เยาว์ แต่ยังมีสิ่งที่ค้างอยู่ในใจ คือการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎก ณ ชมพูทวีปเมื่อเติบใหญ่ขึ้นจึงได้ออกเดินทาง โดยได้เขียนเป็นบันทึกการเดินทางไว้ด้วย ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 646 มีชื่อว่า ต้าถังซีโหยวจี้ แปลว่า จดหมายเหตุการณ์ เดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง โดยในนั้นจึงเล่าถึงการเดินทางที่ไปพบปะกับภูมิประเทศที่แตกต่างออกไป สภาพผู้คน วัฒนธรรมที่หลากหลายน่าสนใจ รวมไปถึงการทหาร การเมืองการปกครอง ซึ่งใช้เส้นทางสายไหมนี้เองในการเดินทาง
เส้นทางสายไหมอีกสายหนึ่งคือ นั่งเรือจากนครกวางเจาผ่านช่องแคบหม่านล่าเจีย(ช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน) ไปถึงลังกา (ศรีลังกาในปัจจุบัน) อินเดียและอัฟริกาตะวันออก เส้นทางเส้นนี้ได้ชื่อว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล วัตถุโบราณจากโซมาลีที่อัฟริกาตะวันออกเป็นต้นยืนยันว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล สายนี้ปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีน
เส้นทางสายไหมทางทะเลได้เชื่อมจีนกับประเทศอารยธรรมที่สำคัญและแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมของโลก ได้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในเขตเหล่านี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น เส้นทางแลกเปลี่ยนระหว่างตะวันออกกับตะวันตก เอกสารด้านประวัติศาสตร์ระบุว่า สมัยนั้นมาร์โค โปโลก็ได้เดินทางมาถึงจีนโดยผ่าน เส้นทางสายไหมทางทะเล ตอนกลับประเทศ เขาได้ลงเรือที่เมืองเฉวียนโจวของมณฑลฮกเกี้ยนของจีนกลับถึงเวนีส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาโดยผ่านเส้นทางสายนี้เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าเส้นทางเหล่านี้จะถูกเรียกว่า เส้นทางสายไหม แต่ว่ามิใช่จะทำการค้าในเรื่องไหมอย่างเดียวเท่านั้น สินค้าที่สำคัญในการค้าขายมีหลายชนิด คือ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงินและทอง หยก อัญมณี ใบชาและเครื่องเทศต่างๆ ในขณะที่อินเดียมีสินค้า พวกงาช้าง สิ่งทอ หินที่มีค่าและน้ำหอม พริกไทย และบางประเทศก็จะมีการค้าสัตว์ เช่น ชะมด ยาสมุนไพรที่ทำจากพืช นอกจากนั้นยังมีพวกทาสเข้ามาอีกด้วย
เมื่อผ่านไปยังเมืองต่างๆ ตามเส้นทางที่มีสินค้าเป็นวัตถุดิบ ได้ทำการค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน ก็จะนำสินค้าเหล่านั้นติดไปด้วย เพื่อเป็นการเผยแผ่และแสดงให้เห็นถึงความเจริญของแต่ละเมืองของจีนและตามหัวเมืองต่างๆ ที่เดินทางผ่านไป นอกจากจะทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันแล้ว ก็ยังมีการแสดงออกถึงวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ และยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ซึ่งที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ ความมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันไปตลอด
เส้นทางสายไหมที่สำคัญของเอเชียกลาง
เส้นทางสายไหมนี้จะเริ่มต้นที่จีนจากเมืองลั่วหยาง ไปยังเมืองซีอาน ต่อไปยังเมืองหลานซู่และตุนฮวง ต่อไปยังเมืองฮามี่ และจากเมืองนี้จะแยกไปทางด้านเหนือผ่านเมืองอูลุมฉี ตัดผ่านเข้าไปยังเมืองทาซเค้นท์ ซามาร์คานด์ บูคาร่า (ซึ่งปัจจุบ้นนี้อยู่ในอุซเบกิสถาน) ต่อไปยังเมิร์ฟ (เมืองโบราณในเติร์กเมนิสถาน) และสุดทางที่เมืองเฮรัท (ในอัฟกานิสถาน)
ส่วนที่แยกจากเมืองฮามี่ จะลงมาทางด้านใต้ผ่านเมืองเทอร์พาน ไปยังเมืองคูก้า ต่อไปยังเมืองบาเกียนและสุดทางที่เมืองเฮรัท
จากเมืองคูก้า จะอ้อมมายังเมืองโฮทาน และวกขึ้นไปยังเมืองยาร์คานท์ ไปยังเมืองบาเกียน(ปัจจุบันคือ เทอร์เมซ) และต่อไปยังอินเดีย
กองคาราวานและการบรรทุกสินค้า
กองคาราวานเป็นสิ่งจำเป็นที่มีความสำคัญในการเดินทางแต่ละครั้ง ซึ่งจะต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลมาก ต้องเดินทางผ่านหุบเขา ภูเขาสูง ทะเลทราย ที่เป็นเนินทราย ที่แห้งแล้งและบางครั้งที่จะต้องเผชิญกับ
สภาพอากาศที่หนาวเย็นฯ ซึ่งไม่สามารถหรืออาจจะพึ่งพาพวกม้าหรือ
ลาได้เลย เนื่องจากพวกสัตว์เหล่านี้ไม่มีความสามารถบรรทุกสิ่งของและความอดทนต่อการเดินทางไกลในถิ่นทุรกันดารได้ แต่ม้าก็ยังมีส่วนที่สำคัญในการลากรถใช้บรรทุกสิ่งของตามหัวเมืองต่างๆ ที่มีระยะทางไม่ไกลมากนักและเส้นทางที่เรียบง่ายโดยไม่มีความขรุขระบนถนนในการขนส่งลำเลียงสิ่งของ ซึ่งส่วนมากจะเป็นพวกเทียมกับรถลากในแต่ท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อนำออกไปขายยังตลาดที่อยู่ในละแวกตามหมู่บ้านและหัวเมืองต่างๆที่อยู่ไม่ห่างไกลมากนัก
ในกองคาราวานที่เดินทางไกล อูฐ เป็นสัตว์ที่เหมาะสมและสำคัญที่สุดกับการเดินทางแต่ละครั้ง ซึ่งอูฐที่ใช้จะต้องเป็น อูฐแห่งแบ๊คเทรียน (Bactrian Camels ) (ถ้าเป็นอูฐหนอกเดียวจะเรียกว่า อูฐแห่งอาระเบีย/Arabian Camels) พวกอูฐแห่งแป๊คเทรียนจะมีมีสองหนอกอยู่ที่บนส่วนด้านหลัง และเดินด้วยความเร็วคงที่ประมาณ 40 กม./ชม. สามารถ วิ่งได้เร็ว 65 กม./ชม. อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงได้จาก 34 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืนและมาเป็น 41 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน สามารถบรรทุกสิ่งของได้น้ำหนักประมาณ 150-200 กิโลกรัม หรือประมาณ 500-600 ปอนด์ในแต่ละตัว
อูฐพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการของกองคาราวานเป็นอย่างมาก พวกมันมีความอดทนทนทานและความสามารถในการเดินทางในทะเลทรายโดยไม่ต้องกินอาหารและน้ำเลยเป็นเวลาหลายวัน และการกินอาหารในแต่ละครั้งก็จะกินอย่างมาก เพราะจะนำไปเป็นไขมันสะสมไว้ในหนอกและร่างกายเก็บรักษาน้ำได้เป็นอย่างดี อาหารเป็นจำพวกต้นไม้ พุ่มไม้ใบหญ้าและผลไม้หวานที่สุกงอม และก็จะไปกินน้ำตามไปที่หลัง (อูฐสามารถกินน้ำได้ประมาณ 100 ลิตรในแต่ละครั้งและจะถูกนำไปเก็บสะลมเอาไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกาย) ตามแหล่งน้ำ บ่อน้ำหรือบริเวณโอเอซิสตามทะเลทรายตามเส้นทางที่เดินไป ในกองคาราวานแต่ละครั้งจะต้องใช้อูฐถึง 15-20 ตัว และจะต้องมีผู้ที่มีความชำนาญในการจัดการเรื่องการบรรทุกสิ่งของ พร้อมกันนั้นต้องสามารถกระจายน้ำหนักบรรทุกของอูฐแต่ละตัวได้เป็นอย่างดี มิฉะนั้นจะทำให้อูฐต้องแบบน้ำหนักที่ไม่สมดุลกันจนไม่สามารถเดินทางได้ถึงจุดหมายปลายทาง
การจัดการเดินทางของกองคาราวาน
ในการจัดการเดินทางแต่ละครั้ง ไม่ใช่ว่าจะเอาสินค้าต่างๆที่จะนำไปค้าขายวางบนหลังอูฐและเริ่มเดินทางเท่านั้น จะต้องมีการเรียนรู้ มีความรู้ในเรื่องสัตว์ ก็คือ อูฐ เพราะอูฐแต่ละตัวสามารถเดินทางได้ไกลด้วยความเร็ว 3-4 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะมีความอดทนเดินได้ถึง 8-9 ชม./วัน คือ เริ่มในตอนรุ่งเช้าจนถึงตอนบ่ายแก่ๆ ซึ่งเป็นระยะทางที่อูฐจะเดินทางได้ประมาณ 1,500 กม.ในเวลา 5-8 อาทิตย์ และเมื่ออูฐเดินทางผ่านสันทรายที่เป็นเนินทราย จะต้องเสียพลังงานมากในการเดินทางผ่านไปแต่ละแห่งซึ่งเป็นที่สูงชันขึ้นเนิน หรือบางแห่งอาจจะลงเนิน เพราะว่าต้องใช้พลังงานในการดิ้นจากหลุมทราย บางที่ก็อาจจะมีงูอาศัยอยู่ด้วย
ในการเดินทางต้องใช้เชือกล่ามอูฐแต่ละตัวให้เดินตามกันมาเป็นแถว เพราะว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นอูฐบางตัวอาจจะไม่เชื่อฟังคำสั่งคนจูงและจะหันหัวไปตามทิศทางที่ม้นต้องการจะไป ซึ่งมันอาจจะได้กลิ่นน้ำและอาหารที่อยู่ข้างหน้า โดยบางครั้งคนคุมจะต้องมีการลงแซ่บ้างซึ่งอาจจะนานๆสักครั้งหนึ่ง และที่สำคัญที่สุดจะต้องมีการเตรียมหญ้าสดเพื่อให้พอกินสำหรับการเดินทางไกลโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่ขาดแหล่งอาหาร ซึ่งถ้านำหญ้าไปไม่พอให้อูฐกิน มันก็อาจจะมีอาหารหิวมาก ถึงแม้ว่ามันจะเดินทางได้ไกลโดยไม่ได้กินน้ำก็ตาม แต่ถ้าไม่มีอาหารพวกหญ้าให้กิน พวกมันก็จะเกิดอาการท้องว่างในกระเพาะอาหารและหายใจที่มีแก๊สเป็นกลิ่นเหม็นออกมามาก
และเมื่อเดินทางไกลเป็นเวลานานพวกอูฐก็จะเริ่มแสดงอาการอ่อนเพลียที่เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าพวกมันเริ่มมีอาการป่วย หมดแรงเดินซึ่งอาจจะเกิดจากกีบตีนบวม เจ็บน่อง ผู้คุมก็ต้องนำหนังแกะที่ทำเป็นบูทหรืออาจจะหุ้มด้วยยางนิ่มๆ มาสวมให้พวกมันในตอนรุ่งเช้าก่อนจะออกเดินทางทุกเช้า และถ้าอูฐตัวใดไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ก็ต้องเอาสิ่งของลงและนำมันมาอยู่ที่ตัวท้ายสุด หรือถ้าไม่มีทางเลือกก็ต้องปล่อยมันเดินไปตามลำพัง ซึ่งก็อาจจะเกิดอันตรายได้จากสัตว์ต่างๆ ที่จะมากัดมัน (ส่วนมากจะไม่มีการฆ่าอูฐทิ้ง)
ในการเดินทางไกลแต่ละครั้งของกองคาราวาน ความสำคัญมากที่สุดจะต้องมีคนนำทางซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักเส้นทางเดินเป็นอย่างดี และนอกจากนั้นยังต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องภาษาท้องถิ่นในการพูดคุย ต่อรองในเรื่องต่างๆได้เป็นอย่างดี ต้องคอยให้การแนะนำปรึกษาหาความรู้กับผู้ที่คุมการเดินทางมาอีกด้วย ซึ่งบางครั้งผู้นำทางแต่ละคนจะมีความรู้อย่างหนึ่ง เช่น รู้เรื่องเส้นทางตามภูเขา แต่ไม่รู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นเนินทรายในทะเลทราย ก็อาจจะทำให้หลงทางได้ง่ายและบางครั้งต้องเผชิญกับลมที่แรง หรือพายุในทะเลทราย คนนำทางจะต้องแนะนำให้นำผ้ามาปิดตาของคนและอูฐไว้ เพื่อป้องกันฝุ่นทรายที่พัดมา ในบางครั้งต้องเดินทางในเวลากลางคืน เพื่อจะได้สังเกตจากดวงดาวต่างๆบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน แต่ส่วนมากก็จะเผชิญกับปัญหาในเวลากลางคืน ก็คือ ไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆที่เคยเห็นในเวลากลางวัน และความหนาวเย็นก็ยังเป็นอุปสรรคอีกด้วย ซึ่งส่วนมากหัวหน้าคาราวานจะสั่งหยุดการเดินทางเมื่อเวลา 23.00 น.เพื่อพักผ่อนพร้อมกับจุดกองไฟเล็กๆ เป็นการป้องกันความหนาวเย็นจากทะเลทราย และต้องรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่ทำให้มีความแข็งแรงและอดทนในการเดินทางไกล
กองคาราวานและที่พัก (Caravanseri)
กษัตริย์ดาริอุสมหาราช (Darius 1 the Great /ปี 558/522-486 ก่อนคริสตกาล) ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติในปี 522 ก่อนคริสตกาล ทรงปกครองและได้พัฒนาอาณาจักรสืบต่อมาจากกษัตริย์ไซรัสมหาราชที่ได้ทำไว้ โดยมีการรวบรวมพวกเหล่าหัวเมืองต่างๆที่อยู่กระจัดกระจายให้มาอยู่ในการปกครองเดียวกันโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวง ได้มีการวางแผนก่อสร้างตัดถนนไปตามหัวเมืองใหญ่ๆที่เรียกว่า ถนนหลวง (Royal Road) เพื่อให้สะดวกสบายในการเดินทาง การส่งข่าวสารและเป็นสถานที่พัก เปลี่ยนม้า ที่สำคัญที่สุดในด้านการค้าขาย ถนนนี้มีความยาวประมาณ 2,500 กม.ซึ่งมีจุดต่อเชื่อมกันถึง 111 แห่ง นอกจากนั้นยังมีการขุดคลองส่งน้ำและสร้างสะพาน มีการส่งกองกำลังออกไปสำรวจตรวจตราตามบริเวณเขตแดนเพื่อนบ้าน ทางด้านตะวันออกบริเวณหุบเขาอินดุส ทางด้านเหนือแถบบริเวณภูเขาคอเคซัส และทางด้านตะวันตกเฉียงใต้บริเวณแม่น้ำไนล์กับทะเลแดง
ที่พักกองคาราวาน สถานที่เหล่านี้มักจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลจากเปอร์เชีย ที่ถูกก่อสร้างให้เป็นที่พักเล็กๆ บริเวณข้างทางที่นักเดินทางสามารถใช้สำหรับการพักผ่อนให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง ที่พักคาราวานจะต้องตั้งอยู่ในเส้นทางของการคมนาคม ทางการค้า การติดต่อสื่อสาร และการเดินทางของผู้คนในเครือข่ายของเส้นทางการค้า (Trade Routes)
ที่พักกองคาราวานอาจจะเป็นที่รู้จักในภาษาไทยด้วย คือคำว่า โรงเตี๊ยม (Guest Houses/Inns)ที่พักกองคาราวานส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมหรือผนังสี่เหลี่ยมรอบนอก และมีประตูใหญ่ประตูเดียวเพื่อให้สัตว์ที่มีสินค้าบรรทุกบนหลังเช่นอูฐเดินเข้าไปได้ ที่บริเวณลานกลางสิ่งก่อสร้างมักจะเปิดขึ้นไปและผนังด้านในจะเป็นคูหา ช่อง หรือซอกเล็กๆ เรียงรายอยู่รอบๆ เพื่อให้เป็นที่พักของพ่อค้าและผู้รับใช้ สัตว์ และสินค้า
ที่พักกองคาราวานจะมีน้ำให้คนและสัตว์ดื่ม ทำความสะอาดร่างกาย และบางครั้งที่ดีหน่อยก็อาจจะมีที่สำหรับอาบน้ำอย่างหรูหรา นอกจากนั้นก็ยังเป็นที่เก็บอาหารสำหรับสัตว์และมีร้านค้าสำหรับนักเดินทางเพื่อซื้ออาหาร เสบียง หรือมีร้านค้าที่พ่อค้าสามารถขายสินค้าที่บรรทุกมาได้ และที่พักบางแห่งสำหรับกองคาราวานอาจจะมีการตกแต่งภายในให้มีความสวยงามด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นสถาปัตยกรรมของประเทศนั้นๆ
บางครั้งในการเดินทางออกไปไกล ซึ่งต้องผ่านทุ่งหญ้าและทะเลทรายไปยังแหล่งโอเอซิส กองคาราวานก็ต้องเข้าพักในเต้นท์ของชนเผ่าเร่ร่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกับเลี้ยงสัตว์ที่เป็นประโยชน์พวกม้า แพะและแกะเพื่อเอาไว้รีดนม เนื้อไว้รับประทาน ซึ่งกองคาราวานต้องอาศัยชนเผ่าเหล่านี้เพื่อเป็นที่พักพิงและอูฐก็ต้องกินอาหารและน้ำเพื่อให้มีความแข็งแรงอดทนในการที่ต้องจะเดินทางต่อไปในวันข้างหน้า
โดยเฉพาะเจ้าของที่พักเมื่อมีกองคาราวานเข้ามา ก็จะได้ผลประโยชน์ในเรื่องการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าที่ตนเองมีอยู่กับผู้ค้าขายของเป็นการตอบแทน และถ้าเป็นเมืองใหญ่ๆ ก็ต้องเตรียมพร้อมในเรื่องที่พักอาหารสำหรับคนและสัตว์ไว้คอยต้อนรับ และในบางครั้งได้มีการเตรียมอูฐตัวใหม่เอาไว้ขายและแลกเปลี่ยนอีกด้วย
ที่พักบางแห่งของกองคาราวานได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นพวกเดียวกันเท่านั้นหรือที่เรียกว่า การเป็นสมาชิก เมื่อสร้างขึ้นมาเรียบร้อยก็ต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับคนและสัตว์เข้ามาพักระหว่างการเดินทาง เช่น ฟาง น้ำ สำหรับพวกสัตว์และบางครั้งก็ต้องมีผู้ที่มีความสามาระในการรักษาด้วย และที่พักผ่อนอย่างดีที่ถูกสร้างไว้เป็นห้องหรือชั้นสำหรับคน และที่สำคัญต้องมีห้องสำหรับเป็นที่เก็บสินค้า นอกจากนั้นยังต้องมีการจ้างพวกยามเอาไว้ป้องกันสำหรับสินค้าที่พวกขโมยชอบเข้ามาลักเอาไป
SILK ROAD
by Haji Ismail Sloan
โดย ประสม ปริปุณณานนท์ <[email protected]>