พูดถึงนครสีชมพูแห่งอินเดีย คงไม่มีใครไม่รู้จักชัยปุระ หรือจัยปูร์ เมืองท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดในแคว้นราชสถาน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากนิวเดลี เป็นเมืองที่ก่อตั้งในรัชสมัยของมหาราชา ไสวจัย ซิงห์ ที่ 2 โปรดย้ายเมืองหลวงจากเมืองอาเมร์ที่อยู่ห่างออกไป 11 กิโลเมตร มาวางแผนสร้างผังเมืองแบบใหม่ตามตำราศิลปะศาสตร์และสถาปัตยกรรมของอินเดีย จนมาถึงในรัชสมัยของมหาราชา ไสว รามสิงห์ ได้โปรดให้ทาสีอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ เป็นสีชมพู เพื่อต้อนรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งเวลส์ จนเมืองมีลักษณะที่เห็นดังในปัจจุบัน และในวันนี้ เราจะพาทุกท่านไปพบกับ 6 สถานที่น่าเที่ยวของเมือง จัยปูร์ ซึ่งมสถานที่ท่องเที่ยวอะไรนั้น เราไปชมกันเลยจ้า
1. พระราชวังหลวง (City Palace)
พระราชวังนี้ มีชื่อเสียงในเรื่องของงานจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก เห็นแล้วเชื่อเหลือเกินว่าลายผนัง กระเบื้องงามๆ ในโลกอยู่ที่พระราชวังในเมืองชัยปุระหมดแล้วจริงๆ ทั้งงานแกะสลักและงานตกแต่งแก้วสี ภายในมีสวนและพระตำหนักต่างๆ มากมาย หลายส่วนได้ก่อสร้างเพิ่มเติม ซ่อมแซมจนเห็นความใหม่ ภายในพระราชวังแห่งนี้ได้ชัดเจน
ปัจจุบันนอกจากส่วนที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงทรัพย์สมบัติของอดีตมหาราชาและมเหสีต่างๆ อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ของใช้ รวมถึงภาพวาด ภาพถ่าย เพื่อแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของมหาราชา อีกทั้งโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปเข้าชม และบางส่วนยังเป็นที่อยู่อาศัยของทายาท และมหาราชาองค์ปัจจุบันด้วย นอกจากนี้ยังมีร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านหนังสือ เครื่องประดับ และร้านอาหาร
2. หอดูดาว “จันทาร์ มานทาร์”(Jantar Mantar)
จันทาร์ มานทาร์ (Jantar Mantar) ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของ city palace เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองจัยปูร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1727 โดยมหาราชาไสวจัย ซิงห์ที่ 2
เนื่องจากทรงสนพระทัย และมีพระปรีชาในเรื่องดาราศาสตร์ จึงได้สร้างหอดูดาวแห่งนี้มาพร้อมๆ กับการสร้างพระราชวังซิตี้พาเลซ (city palace) ภายในจันทาร์ มานทาร์ มีหอนาฬิกาแดดขนาดใหญ่ซึ่งวัดเวลาได้อย่างแม่นยำ ในสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องมือสำคัญใช้คำนวณฤกษ์เวลาในการออกรบ
นอกจากนี้แล้ว มหาราชาไสวจัย ซิงห์ที่ 2 ยังได้สร้างหอดูดาวในลักษณะนี้อีก 4 แห่งด้วยกันคือ ใจกลางเมืองเดลี, Ujjain, Varanasi และ Matura นาฬิกาแดดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะอยู่ที่จัยปูร์มีความสูงถึง 28 เมตร ที่มีความเที่ยงตรง บอกเวลาที่เมืองชัยปุระ ซึ่งเวลาจะไม่ตรงกับเวลามาตรฐานของอินเดีย (ช้ากว่า 35 นาที)
3. พระราชวังสายลม (Hawal Mahal)
ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของ city palace เป็นพระราชวังที่สร้างด้วยหินทรายสีชมพู หน้าตาคล้ายรวงผึ้งแกะสลัก ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณระจำเมืองชัยปุระ กับช่องหน้าต่างให้มองดูผู้คนของเหล่านางใน
พระราชวังสายลม เคยเป็นฮาเร็มของมหาราชา มีลักษณะเป็นอาคาร 5 ชั้น สร้างด้วยหินทรายสีออกแดง มีสถาปัตยกรรมสไตล์เปอร์เซียกับโมกุลที่สวยเด่น คือ ลวดลายฉลุหินตามหน้าต่าง ช่องระบายอากาศที่บรรดานางสนมในวังใช้เป็นที่แอบดูชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชนทั่วไป ด้วยการออกแบบหน้าต่างให้มีความมิดชิดเป็นส่วนตัว และประโยชน์อีกอย่าง คือเป็นช่องแสงและช่องลม มีช่องหน้าต่างจำนวนมากถึง 152 ช่อง
4. แอมเบอร์ ฟอร์ท (Amber fort)
พระราชวังแอมเบอร์ฟอร์ท เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของชัยปุระ มีที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนผาหินเหนือทะเลสาบเมาตา (Maota) สร้างโดยมหาราชา มาน สิงห์ที่ 1 ป้อมปราการแห่งนี้มีชื่อเสียงทางด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งผสมผสานกันระหว่างศิลปะฮินดู และศิลปะราชปุตอันเป็นเอกลักษณ์ สามารถมองเห็นได้จากระยะทางไกล เนื่องจากมีขนาดกำแพงปราการที่ใหญ่และแน่นหนา
เมื่ออยู่บนป้อมแล้วสามารถมองเห็นทะเลสาบเมาตา (Maota) ได้อย่างชัดเจน
5. ป้อมชัยคฤห์ (Jaigarh fort)
ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา “ชีลกาทีลา” อยู่สูงเหนือกว่าป้อมแอมแมร์ ขึ้นไปไม่ไกลนัก สร้างโดยมหาราชาไสวจัย ซิงห์ที่ 2 เพื่อใช้สำหรับอารักขาป้อมและพระราชวังแอมแบอร์
การออกแบบทางโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกับป้อมแอมเมอร์ และยังนิยมเรียกกันว่า “ป้อมชัย” (ป้อมแห่งชัยชนะ) ในป้อมแห่งนี้เป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ “ชัยวนา” (Jaivana) ซึ่งมีน้ำหนักถึง 50 ตัน ซึ่งได้ทำการหลอมโลหะและผลิตภายในป้อมแห่งนี้ โดยในขณะที่สร้างนั้นถือเป็นปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
6. พระราชวังฤดูร้อน (Jal Mahal)
พระราชวังฤดูร้อน มีไว้สำหรับราชวงศ์ เพื่อใช้พักผ่อนคลายร้อน ตั้งอยู่กลางทะเลสาบมันสกา (Man Sagar) โดยพระราชวังแห่งนี้ได้ทิวทัศน์ที่สวยงามของทะเลสาบและเทือกเขานหาร์การห์เป็นฉากหลัง ตัวอาคารสร้างโดยใช้หินทรายสีแดงเป็นอาคาร 5 ชั้นซึ่ง 4 ชั้นล่างจะถูกน้ำท่วมเมื่อทะเลสาบมีระดับน้ำสูงสุดโดยเหลือเพียงชั้นบนสุดซึ่งจะเผยขึ้นมาเหนือน้ำ