อเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นโอรสของพระเจ้าฟิลลิป ที่ 2 แห่งแคว้นมาซีโดเนียและพระนางโอลิมเปียส แห่งเอพิรุส เกิดในปี 356 ก่อนคริสตกาล ที่เมืองเพลล่า ซึ่งเป็นเมืองหลวงโบราณทางตอนเหนือของมาซีโดเนีย ต่อมาได้เป็นกษัตริย์แห่งมาซีโดเนีย ซึ่งได้ทำการสู้รบพร้อมกับขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง และได้เสียชีวิตในปี 323 ก่อนคริสตกาล
อเล็กซานเดอร์ ในสมัยที่ยังเยาว์วัยอายุประมาณ 13 ปีได้เป็นศิษย์เล่าเรียนหลายวิชากับ อริสโตเติล ผู้ซึ่งเป็นนักปราชญ์แห่งโลกตะวันตก ในชั้นเรียนอริสโตเติลได้สอนการพูดที่เป็นสำนวนโวหารและวรรณคดี แต่อเล็กซานเดอร์ได้ให้สนใจในด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์และปรัชญา พร้อมกันนั้นก็ได้พบกับเพื่อนที่ชื่อว่า เฮฟาสเทียน ซึ่งต่อมาก็ได้คบกันเป็นเพื่อนที่สนิทมากที่สุด และมีความคิดที่จะรวบรวมพวกมาซีโดเนียนเข้าด้วยกัน ส่วนอริสโตเติลนั้นเห็นว่าพวกนี้เป็นเหมือนพวกคนป่าเถื่อน จึงได้เลิกสอนและไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย
ในราวปี 340 ก่อนคริสตกาล เมื่อกษัตริย์ฟิลลิป ที่ 2 ได้ยกทัพออกไปปราบพวกกบฏที่ไบแซนติอุม อเล็กซานเดอร์ซึ่งมีอายุได้ 16 ปีก็ได้ติดตามไปกับกองทัพด้วย พร้อมกับได้ศึกษาการต่อสู้จากบิดา นอกจากนั้นก็ยังได้สนิทสนมกับพวกทหารโดยไม่ได้มีการถือตัว ซึ่งครั้งนี้ได้แสดงออกถึงความสามารถในการปราบม้าพยศสีดำตัวหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นม้าคู่ใจในการออกศึกทำสงครามและตั้งชื่อว่า บูซาเฟลัส มีความหมายว่า หัววัว จนกระทั่งกษัตริย์ฟิลลิปทราบความจริงถึงเรื่องต่างๆถึงกับคิดอยู่ในใจว่ารัฐมาซีโดเนียนี้อาจจะเล็กไปสำหรับอเล็กซานเดอร์
ในขณะนั้นรัฐที่เป็นอิสระหลายรัฐในบริเวณคาบสมุทรกรีกได้แก่ รัฐมาซีโดเนีย รัฐสปาร์ต้า รัฐเทรซ รัฐเอเธนส์ รัฐทีปส์ และรัฐโครินท์ ซึ่งรัฐต่างๆเหล่านี้มีอำนาจปกครองตนเอง แต่ยังคงมีปัญหาขัดแย้งเคยทำสงครามระหว่างกันแต่ยังมีศาสนาความเชื่อในเทพเจ้าเหมือนกัน จึงสามารถรวมตัวกันได้ในยามคับขัน ช่วยเหลือรวมกำลังกันทำสงครามกับศัตรูนอกประเทศซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ก่อนหน้านี้มาแล้ว คือ สงครามโตรจาน/ทรอย ประมาณ ปี 1250-1180 ก่อนคริสตกาล และสงครามกรีกกับเปอร์เซีย ประมาณปี 490 ก่อนคริสตกาล
ในช่วงเวลานั้นรัฐมาซีโดเนีย ซึ่งอยู่บริเวณทางตอนเหนือของคาบสมุทรกรีกเริ่มมีกำลังอำนาจมากกว่ารัฐอื่น ๆ ประมุขของมาซีโดเนียพระนามว่าฟิลลิป มีความใฝ่ฝันที่ต้องการให้รัฐของตนมีความยิ่งใหญ่พร้อมทั้งความเจริญรุ่งเรือง จึงหาแนวทางที่จะให้บรรลุถึงความฝัน ซึ่งพระองค์เองได้วิเคราะห์สถานการณ์เห็นว่าภัยคุกคามที่มีอยู่ใกล้ๆ เช่นรัฐต่างๆ ในคาบสมุทรกรีก แล้วยังมีศัตรูที่สำคัญมาก คือ อาณาจักรเปอร์เซีย จึงถือว่าเป็นภาระอันใหญ่หลวงเหลือเกิน พระองค์จึงได้วางวัตถุประสงค์แห่งชาติมาซีโดเนียเป็นขั้นตอน คือเพื่อปกครองรัฐต่างๆ ในคาบสมุทรกรีกและอาณาจักรเปอร์เซียโดยมีรัฐมาซีโดเนียเป็นรัฐศูนย์กลางการปกครอง
ภายหลังต่อมากษัตริย์ฟิลลิปได้แยกทางกับพระนางโอลิมเปียส และได้แต่งงานใหม่กับลูกสาวของพวกขุนนางแห่งมาซีโดเนียนด้วยกัน ชื่อ คลีโอพัตรา ซึ่งในการงานเลี้ยงพิธีการแต่งงานนี้พ่อของนางคลีโอพัตรา ก็ได้ประกาศถึงเรื่องผู้ที่จะได้รับการสืบสันติวงศ์ของมาซีโดเนียน จะต้องเป็นผู้ที่เป็นชาวมาซีโดเนียนแท้ๆ จึงได้สร้างความไม่พอใจให้กับอเล็กซานเดอร์ ถึงกับขว้างถ้วยเหล้าใส่พ่อของนางคลีโอพัตรา ทำให้กษัตริย์พิลลิปถึงกับมีความเดือดดาล และทำเข้าไปตบหน้าของอเล็กซานเดอร์ด้วยความเมามาย ทำให้อเล็กซานเดอร์ถึงกับตะโกนว่า คนผู้นี้หรือซึ่งพร้อมแล้วที่จะนำกองทัพจากยุโรปไปสู่เอเชีย แม้แต่จะลุกเดินจากโต๊ะตัวนี้ไปยังอีกตัวหนึ่งยังไม่สามารถที่จะทรงตัวอยู่ได้
ในฤดูร้อนของปี 336 ก่อนคริสตกาล โดยกษัตริย์ฟิลลิป ที่ 2 ซึ่งได้ถูกแต่งตั้งจากสันนิบาตพันธมิตรของโครินท์แห่งกรีก ให้เป็นผู้นำต่อต้านทำสงครามกับพวกเปอร์เซียทางด้านเอเชียไมเนอร์ อันเนื่องมาจากการที่พวกเปอร์เซียได้เผาเมืองเอเธนส์ แต่กษัตริย์ฟิลลิป ที่ 2 ก็ได้ถูกลอบสังหารเสียก่อน(โดยเชื่อกันว่าถูกสังหารโดยพวกเปอร์เซียที่ได้ถูกจ้างให้ไปลอบสังหาร) แผนการรณรงค์จึงต้องมีการชะลอและเลื่อนการยกทัพครั้งนี้ออกไป แต่อเล็กซานเดอร์ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 20 ปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเหล่านายทหารในกองทัพพร้อมกันนั้นก็ได้ถูกรับเลือกจากสภาแห่งรัฐโครินท์ ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองและควบคุมกองทัพของมาซีโดเนียและรวมทั้งของพวกรัฐต่างๆของกรีกด้วย
แต่พวกกรีกเมืองอื่นๆ คือ รัฐเอเธนส์และรัฐทีปส์ ซึ่งมีความไว้วางใจในความสามารถของกษัตริย์ฟิลลิปแต่ไม่มีมั่นใจในตัวของอเล็กซานเดอร์ผู้ซึ่งมีอายุแค่เพียง 20 ปี และยิ่งกว่านั้นพวกมาซีโดเนียนมิได้มีอำนาจการปกครองเหนือพวกเขา เหมือนกับเป็นคนละพวกกันและยังมีความหล้าหลังในความเป็นอยู่ และที่ปรึกษาของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์จึงได้แนะนำว่าต้องปฏิบัติต่อพวกเอเธนส์และทีปส์ให้สุภาพนิ่มนวลไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่มีการแข็งข้อ และในปี 335 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์อเล๊กซานเดอร์ พร้อมด้วยเหล่านายทหารได้รณรงค์ให้เดินทางไปยังด้านเหนือของแม่น้ำดานูบ เพื่อตรึงและวางกำลังไว้ทางด้านเหนือพรมแดนของมาซีโดเนีย ซึ่งการรบครั้งนี้ได้ประสบความสำเร็จ เพราะได้ปราบพวกเทรเซียนที่ทำการต่อต้านจนราบคาบ และอเล็กซานเดอร์ได้เดินทัพอย่างรวดเร็วขึ้นไปทางเหนือจนเจาะลึกถึงแม่น้ำดานูบ หลังจากนั้นก็ได้ยกทัพกลับลงมา
ระหว่างการเดินทางกลับได้มีกระพือข่าวถึงเรื่องการเสียชีวิตของอเล็กซานเดอร์ ทำให้กองทัพของอเล็กซานเดอร์ต้องเดินทางกลับลงมาอย่างรวดเร็วภายใน 2 อาทิตย์ ไปยังรัฐทีปส์และรัฐเอเธนส์ เพราะว่ามีข่าวลือเกิดขึ้นที่สองเมืองนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข็งข้อขึ้นและแยกตัวออกห่างจากมาซีโดเนียได้ ในฤดูร้อนปี 335 นั้นเองอเล็กซานเดอร์ได้ยกกองทัพในจนถึงหน้าประตูเมืองทีปส์ เพื่อให้พวกชาวเมืองและหัวหน้าได้รู้ว่ายังไม่สายเกินไปที่จะเปลี่ยนใจ แต่พวกทีปส์ได้ตอบโต้โดยการส่งพวกทหารออกมาก และอเล็กซานเดอร์ได้ก็ได้ขับไล่พวกพลธนูไปยังกองทหารนั้น ในวันรุ่งขึ้นอเล็กซานเดอร์จึงได้ส่งนายพลเพอร์ดิคคาสเข้าไปทำลายประตูเมืองและฆ่าเกือบหมดทุกคนที่ขวางหน้ารวมทั้งพวกผู้หญิงและเด็กด้วย นอกจากนั้นยังทำการปล้นสะดมเอาข้าวของที่มีค่าและจากนั้นก็เผาจนราบเรียบ แต่ก็ได้มีการยกเว้นพวกวัดโบสถ์และสถานที่สำคัญ เพื่อให้พวกกรีก/เอเธนส์ได้เห็นเป็นตัวอย่าง และหลังจากนั้นพวกกรีกก็ได้ตัดสินใจเข้ามาอยู่ในความปกครองของมาซีโดเนีย
ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิแห่งปี 334 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ เป็นผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสันนิบาตพันธมิตรของโครินท์แห่งกรีก ให้เป็นผู้นำบุกเข้าโจมตีเปอร์เซียทางด้านเอเซียไมเนอร์ ซึ่งในขณะเดียวกันอเล็กซานเดอร์เองก็ได้ยกกองทัพเข้าทำสงครามกับรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรกรีก และสามารถปกครองรัฐต่างๆ ให้อยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์ โดยใช้รูปแบบขบวนรบที่ได้คิดค้นและทำให้มีชื่อเสียง คือ ยุทธวิธีฟาลังซ์ (Phalanx) และจากนั้นก็ตั้งตนเองเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรีกในเวลาต่อมา และจะดำรงวัตถุประสงค์ตามที่พระบิดาได้กำหนดไว้ แต่พระองค์ยังมีความทะเยอทะยานสร้างความฝันให้ยิ่งใหญ่กว่าของพระบิดาคือ เพื่อต้องการปกครองโลกให้เป็นแบบกรีก (Hellenistic Civilization) โดยมีมาเซโดเนียเป็นรัฐศูนย์กลางการปกครองโลก ในปลายปี 334 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ได้นำทหารประมาณ 42,600 คน ซึ่งเป็นพวกมาซีโดเนียน 35,000 นาย และพวกกรีกอีก 7,600 นาย พร้อมกับเพื่อนนักรบที่สำคัญอีก 4 คน คือ เฮฟาสเทียน แอนตีโกนัส พโตเลมีและซีลิวคัส และประสบความสำเร็จในการข้ามทางช่องแคบเฮลเลสพ้อนต์มายังเอเชียไมเนอร์ และได้เริ่มทำสงครามแผ่ขยายราชอาณาเขตได้อย่างกว้างใหญ่ไพศาล
ในต้นปี 333 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ได้ยกทัพมายังที่บริเวณแม่น้ำกรานิคัส ที่อยู่ใกล้กับเมืองโบราณทรอย เป็นสมรภูมิสู้รบแห่งแรกของอเล็กซานเดอร์แห่งมาเซโดเนียและพวกกรีกบนดินแดนของอาณาจักรเปอร์เซีย และฝ่ายกษัตริย์ดาริอุส ที่3 ก็ได้ยกทัพอันยิ่งใหญ่ประมาณ 40,000 นายประกอบด้วยทหารม้า 18,000 นายและทหารราบ 22,000 นาย ออกไปตั้งรับต่อสู้ป้องกันที่บริเวณแม่น้ำแห่งนี้ ซึ่งกองทัพของอเล็กซานเดอร์มีอาวุธที่เป็นหอกยาว ก็ได้สู้รบกับกองทัพของเปอร์เซียที่มีทหารมากมาย แต่ก็ไม่มีความสามารถที่จะเอาชนะกองทัพของอเล็กซานเดอร์ได้
ในปลายปี 333 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็ได้เคลื่อนกองทัพต่อไปทางด้านใต้อีก กษัตริย์ดาริอุส ที่3 ก็ได้ส่งกองทัพประมาณ 70,000 นาย มาสกัดกั้นที่บริเวณภูเขาอีสซุส (ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย) แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกองทัพของอเล็กซานเดอร์ได้ และก็ได้ช่วยกับปกป้องให้กษัตริย์ดาริอุส ที่3 หลบหนีไปได้โดยทิ้งกองทัพให้อยู่ต่อสู้เพียงลำพังและทหารมากมายก็ถูกจับเป็นเชลยของอเล็กซานเดอร์
ในต้นปี 332 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็ได้เคลื่อนกองทัพต่อไปทางด้านใต้อีกโดยผ่านทางด้านที่ราบริมชายฝั่งทะเล และทุกบริเวณที่ผ่านต่างก็ยอมสวามิภักดิ์ยกเว้นพวกฟีนีเชียนที่เมืองไทร์ ก็ได้ทำการสู้รบอยู่ประมาณ 7เดือนจนกระทั่งกองทัพของอเล็กซานเดอร์เข้าประตูเมืองได้ พวกชาวเมืองไทเรียนจึงได้ยอมจำนน กองทัพของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ได้ฆ่าทหารของพวกไทเรียนเสียชิวิตมากกว่า 7,000 นายและอีกประมาณ 30,000 คนต้องตกเป็นทาส จากนั้นกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็ได้เดินทัพต่อไปยังอียิปต์
ในต้นปี 331 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็ได้เคลื่อนกองทัพต่อไปทางด้านใต้อีกจนถึงอียิปต์บริเวณปากแม่น้ำไนล์ ได้ให้กองทัพได้พักแรมที่บริเวณนั้และต่อมาได้ถูกตั้งชื่อว่าเมือง อเล็กซานเดรีย ซึ่งในปัจจุบันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และได้ทำลายกองทัพของเปอร์เซียในฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกันก็ได้เดินทางไปเคารพเทพเจ้ารา (Amon Ra) ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งคล้ายกับเทพเจ้าซีอุสพวกกรีก จึงทำให้พวกอียิปต์ยกย่องว่าเป็นบุตรของเทพเจ้าราด้วย และต่อมาก็ได้รับการยกย่องและแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ฟาโรห์ของอียิปต์อีกด้วย ก่อนเดินทางออกจากอียิปต์ก็ได้แต่งตั้งให้เพื่อนสนิทชื่อ พโตเลมี ขึ้นเป็นกษัตริย์ฟาโรห์ปกครองอียิปต์ต่อมา
ในปลายปี 331 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็ได้ตัดสินใจโดยทันที่ว่าจะต้องเคลื่อนกองทัพต่อไปทางด้านเหนือโดยผ่านทะเลทรายเพื่อจะเข้าไปยังกรุงบาบีโลนโดยคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเผชิญกับอันตรายจากทะเลทราย แต่ก่อนจะออกเดินทางก็ได้เข้าไปขอพรจากเทพเจ้าราและสิ่งศักดิ์ทั้งหลาย ซึ่งระหว่างการเดินทางกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็ได้ประสบกับน้ำฝนที่อุดมสมบูรณ์และก็มีพวกนกที่บินอยู่เป็นผู้นำทางไป
ในระหว่างที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์อยู่ในอิยิปต์ก็ได้มีส่งหนังสือทาบทามไปยังกษัตริย์ดาริอุส ที่ 3 เพื่อให้ยอมจำนนต่อกองทัพของตน แต่ได้รับการตอบจากทางเปอร์เซียโดยให้มีการพักรบชั่วคราว และได้ส่งเครื่องราชบรรณการมาให้ด้วย พร้อมกันนั้นก็ยอมให้กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ ได้ปกครองทางดินแดนแคว้นต่างๆทางด้านตะวันตกของอาณาจักรเปอร์เซียทั้งหมด แต่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็ได้ทำการปฏิเสธไปและต้องการที่จะครอบครองอาณาจักรเปอร์เซียทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ได้ยกกองทัพประมาณ 47,000 นาย ออกจากอียิปต์เดินทัพยึดครองดินแดนต่างๆมาจนถึงบริเวณดินแดนระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีส จนกระทั่งได้พบกับกองทัพของกษัตริย์ดาริอุส ที่ 3 ที่ได้ยกกองทัพจำนวนอันยิ่งใหญ่ที่มีทหารราบประมาณ 200,000 นาย และทหารม้าอีกประมาณ 50,000 นาย ออกมาตั้งรับและต่อสู้ป้องกันที่บริเวณกัวกาเมลา (ปัจจุบันอยู่ในอิรัก)
เมื่อตอนรุ่งเช้าของวันที่ 1 ตุลาคม ปี 331 ก่อนคริสตกาล กองทัพทั้งสองได้เริ่มสู้รบกันและเมื่อคนขับรถศึกได้ถูกฆ่าทำให้กษัตริย์ดาริอุส ที่3 เสียหลักตกลงมาในบริเวณที่สู้รบกันอย่างหนัก และคิดว่าพระองค์เสียชีวิตแล้ว ซึ่งกษัตริย์ดาริอุส ที่ 3 ก็ได้รวบรวมไพร่พลหนีเอาตัวรอดมาตั้งหลักอยู่ที่เมืองเอ๊กบาตาน่า และเตรียมเริ่มส่องสุมกองกำลังเพื่อจะไปต่อสู้อีก ในขณะเดียวกันกองทัพของอเล็กซานเดอร์ก็ได้เข้ายึดครอบครองกรุงบาบีโลน เข้ายึดครองเมืองซูซ่า และเคลื่อนทัพเข้านครเปอร์เซโปลิส
ในปี 330 ก่อนคริสตกาล จักรวรรดินี้ได้ถูกปกครองโดยบรรดาขุนศึกเป็นผู้สืบทอดอำนาจกันต่อมาโดยได้จัดตั้งราชวงศ์ใหม่ คือ ซิลิวซิด (Seleucid) ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองที่เมืองบาบีโลน และได้ขยายอิทธิพลและวัฒนธรรมของพวกกรีกไปทั่วดินแดนแถบนี้ ส่วนกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็ได้เคลื่อนกองทัพต่อไปทางด้านใต้อีกจนถึงนครเปอร์เซโปลิส และได้ถูกกองกำลังของข้าหลวงที่ปกครองอยู่มีชื่อว่า อะริโอ บาร์ซาน ได้เข้าทำการต่อสู้จนตัวตาย และกองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราชได้บุกเข้ายึดครองได้สำเร็จ
อเล็กซานเดอร์มหาราช ก็ได้เข้าพักอยู่ในนครแห่งนี้ประมาณ 2 เดือน เพื่อต้องการที่จะศึกษาเรื่องราวและอารยธรรมต่างๆในนครแห่งนี้ และในขณะเดียวกันก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของดาริอุส ที่ 3 แต่ด้วยความมึนเมาอย่างหนักและความโกรธแค้น กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ ก็ได้สั่งให้เผาทำลายราชวังของกษัตริย์เซอร์เซส ที่1 ซึ่งพระองค์ได้เคยยกกองทัพไปบุกทำลายและเผากรุงเอเธนส์โดยเฉพาะที่วิหารพาร์เทนอน (Parthenon) แต่เนื่องจากคานด้านบนของราชวังต่างๆซึ่งทำด้วยไม้จึงติดไฟได้ง่าย ไฟจึงได้ไหม้ลุกลามไปทั่วทั้งนครเปอร์เซโพลิสจนพังพินาศไปหมด ซึ่งเหลือแต่ซากปรักหักพังเอาไว้และความงดงามของสิ่งก่อสร้างต่างๆในอดีต ที่เต็มไปด้วยงานภาพอันสำคัญและงดงามไปด้วยงานการแกะสลักลวดลายนูนต่ำกับเรื่องราวและสัญลักษณ์ต่างๆมากมาย และที่สำคัญที่สุดก่อนที่เผาทำลาย ได้ให้พวกทหารขนทรัพย์สมบัติสิ่งของมีค่าต่างๆมากมายไปจนหมด ซึ่งประมาณได้ว่าต้องใช้ล่อประมาณ 20,000 ตัว และอูฐอีกประมาณ 5,000 ตัว
ต่อมากษัตริย์อเล็กซานเดอร์ ก็ได้ยกกองทัพออกติดตามกษัตริย์ดาริอุส ที่ 3 ซึ่งในขณะนั้นได้หนีไปกับพวกข้าหลวงที่ปกครองอยู่ที่แบ๊คเทรีย ชื่อว่า เบสซุส แต่ในภายหลังได้ถูกพวกข้าหลวง ซึ่งมีเบสซุสเป็นหัวหน้าส่งกองทหารเข้าจับกุมที่แคว้นปาร์เทีย เพื่อต้องการที่จะนำตัวกษัตริย์ดาริอุส ที่3 มาให้กับอเล็กซานเดอร์เพื่อเอาความดีความชอบ แต่ในภายหลังได้เปลี่ยนใจลอบทำร้ายจนเสียชีวิต เพื่อป้องกันมิให้กองทัพของอเล็กซานเดอร์ได้ติดตามมาทำลายเมืองแบ๊คเทรีย
เมื่ออเล็กซานเดอร์ได้ทราบเรื่องราวต่างๆทั้งหมด และนำกองทัพติดตามไปจนพบกองเกวียนสัมภาระของพวกเปอร์เซียที่ถูกทิ้งไว้และพบกษัตริย์ดาริอุสประชวรหนัก ใกล้สิ้นพระชนม์จากการอดอาหารและน้ำ เมื่อดาริอุส ที่ 3 ได้สิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงแสดงเพื่อความมีน้ำใจชาวเปอร์เซีย อเล็กซานเดอร์สั่งให้จัดการศพอย่างสมพระเกียรติของกษัตริย์ และได้ยกกองทัพติดตามไปเพื่อที่กำจัดข้าหลวงเบสซุสต่อไป
ต่อมาเบสซุส ได้ประกาศตนเป็นผู้ปกครองเปอร์เซียคนใหม่ ทำให้อเล็กซานเดอร์ได้นำทัพเข้าโจมตีกองทัพแบ๊คเตรียจนแตกพ่าย อเล็กซานเดอร์ได้สั่งให้ทหารตามล่าตัวผู้ทรยศซึ่งล่าถอยจากแบคเตรียเข้าสู่พรมแดนทางเอเชียกลาง และในเวลาต่อมาเบสซุสก็ถูกจับตัวได้ พระองค์ได้สั่งให้ทหารนำตัวไปตัดหูและจมูก เปลือยกายและแขวนประจานก่อนจะประหารชีวิตโดยการสับเป็นท่อนๆ
เมื่อแคว้นแบ๊คเทรีย ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์แห่งอาณาจักรเปอร์เซียในราชวงศ์อะคาเมนิดส์ จนถึงต่อมาในระยะต้นปี 327 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราชได้เข้ามาครอบครองพื้นที่แห่งนี้
แต่สงครามยังไม่สงบเนื่องจากได้มีขุนนางของแบ๊คเตรียอีกคนหนึ่งนามว่า สปิทาเมนิส ได้ร่วมมือ กับพวกชนเผ่าเร่ร่อนจากทุ่งหญ้าสเตปป์ เข้าลอบโจมตีกองทัพของอเล็กซานเดอร์หลายครั้ง ซึ่งในระยะนี้เหล่าทหารกรีกที่อ่อนล้าจากการทำศึกและจากบ้านมานานต่างก็ขอร้องให้พระองค์ส่งตัวกลับบ้าน และเมื่อกองทัพของพระองค์ลดจำนวนลงมาก อเล็กซานเดอร์จึงสั่งให้เกณฑ์พลเพิ่มจากชนพื้นเมืองแบคเตรีย แต่แม้จะเป็นไพร่พลที่มาจากฝ่ายศัตรู แต่เหล่าทหารใหม่ก็จงรักภักดีต่อพระองค์มาก ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในการปกครองของพระองค์ หลังจากนั้นอเล็กซานเดอร์จึงยกทัพเข้าไปยังเขตเทือกเขาทางตอนเหนือเพื่อตามล่าศัตรู
และยกทัพเข้ายึดถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกซ๊อกเดียน ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในอาณาจักรเปอร์เซียที่ได้รับสมญานามว่า เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ของอารยัน และในปี 327 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราชได้เข้ามายึดครองและได้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า มารากานด้า (Marakanda/ในปัจจุบัน คือ เมืองซามารีคานด์) ต่อมาอเล็กซานเดอร์ได้รวมดินแบ๊กเทรียเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว จากนั้นในปี 248 ก่อนคริสตกาลก็ได้ตั้งอาณาจักรเกโก-แบ๊กเทรียนโดยมีผู้สำเร็จราชการดิโอโดทัสประมาณ 100 ปี และในปี 150 ก่อนคริสตกาลอาณาจักรแห่งนี้ก็ถูกยึดครองโดยชาวเร่ร่อนซิทเทียนที่อยู่ทางด้านเหนือและชาวยูซี (ต้นกำเนิดของอาณาจักรกูษาณะ)
ในช่วงนี้มีบันทึกว่าพระนิสัยของพระองค์เริ่มแปรเปลี่ยนโดยทรงมีพระอารมณ์ร้ายและเหี้ยมโหดมากขึ้น พระองค์ทรงนำเครื่องแต่งกายแบบและขนบธรรมเนียมเปอร์เซียเข้ามาปรับใช้ ทำให้พวกทหารชาวกรีกและมาซิโดเนียเริ่มไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทรงให้เหล่าทหารหมอบกรานเวลาเข้าเฝ้า เนื่องจากตามประเพณีกรีกนั้น การหมอบกราบจะใช้กับเทพเจ้าเท่านั้น นอกจากนี้ในเวลานั้นได้มีผู้นำขันทีรูปงามนามว่า บาโกอัส ขึ้นถวายพระองค์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงโปรดมาก แม้ว่ารสนิยมทางเพศเยี่ยงนี้จะเป็นของที่รับกันได้ในสังคมกรีกยุคนั้น แต่กิริยาของขันทีผู้นี้อาจไม่เป็นที่พอใจของเหล่านายทัพก็เป็นได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อเล็กซานเดอร์เริ่มระแวงเหล่าทหารที่ไม่พอใจว่าคิดกระด้างกระเดื่องและได้ทรงประหารทหารจำนวนมากรวมทั้งพระสหายเก่าแก่กลุ่มหนึ่งด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เหล่าไพร่พลชาวมาซีโดเนียและกรีกที่ตามเสด็จมาแต่เดิมเริ่มหมางเมินพระองค์
ต่อมาในระยะต้นปี 327 ก่อนคริสตกาล พวกพันธมิตรก็ได้ตัดศรีษะของสปิทาเมนิสมาถวายพระองค์ พร้อมข้อเสนอยอมจำนน ในช่วงนั้นพระองค์ได้รับตัวพระธิดาของเจ้านครที่ยอมจำนนผู้หนึ่ง จากหัวหน้าชาวแบ๊คเทรียนแห่งบอล์ค ชื่อว่า อ๊อกยาร์เทส (Oxyartes)และได้รับตัวธิดาของเจ้านครชื่อว่าเจ้าหญิงโรซาน่า (Roxana) มาเป็นชายาเพื่อเป็นการป้องกันหัวเมืองต่างๆ เหล่านั้นแข็งข้อ ไม่นานหลังจากการอภิเษก พระองค์ก็สามารถยุติสงครามในเอเชียกลางที่มีมานานถึง 2 ปีลงได้สำเร็จ และกล่าวกันว่าพระองค์หลงใหลชายาองค์นี้มากและมีโอรสกับนางหนึ่งองค์ชื่อว่า เอกุส (Aegus/Alexander IV) และในภายหลังก็ได้ถูกส่งตัวกลับไปยังมาซีโดเนียให้อยู่กับพระมารดาของพระองค์พระนางโอลิมเปียส จนกระทั่งในปี 310 ก่อนคริสตกาลก็ได้ถูกลอบสังหารเสียชีวิตทั้ง 3 คน โดยขุนพลแคนแซนเดอร์ที่ได้ตั้งตนเอง เป็นกษัตริย์ในปี 316 ก่อนคริสตกาล
ในตอนกลางปี 327 ก่อนคริสตกาล กองทัพมาซิโดเนียได้ยกมาถึงเทือกเขาฮินดุ กุช ของแคว้นปัญจาบ(ในปากีสถานปัจจุบัน) ซึ่งในสมัยนั้นเรียกดินแดนแถบนั้นทั้งหมดว่า อินเดีย พระเจ้าโพรุส กษัตริย์แห่งแคว้นปัญจาบได้เร่งระดมทัพของพระองค์และพันธมิตรเพื่อเตรียมรับศึก กองทัพอินเดียที่ประกอบด้วยทหารกว่า 50,000 นาย และช้างศึกอีก 500 ตัว ได้ตั้งมั่นรอทัพของมาซิโดเนีย ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เจลัม ขณะที่กองทัพมาซีโดเนียจำนวน 70,000 นาย กำลังยกใกล้เข้ามา อเล็กซานเดอร์สั่งให้กองทัพเคลื่อนพลข้ามน้ำ ในตอนกลางคืน ท่ามกลางสายฝนที่ตกกระหน่ำ เพื่อไม่ให้ข้าศึกรู้ตัว แนวป่าตามริมแม่น้ำช่วยกำบังทัพมาซีโดเนียได้เป็นอย่างดี และในตอนเช้ามืดก่อนฟ้าสาง ทัพมาซิโดเนียก็เข้าโจมตีทัพอินเดีย แม้จะถูกโจมตีกะทันหัน แต่ช้างศึกของอินเดียก็ทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ดินโคลนที่เกิดจากฝน ทำให้ทหารมาซีโดเนียขาดความคล่องตัวในการรบ อีกทั้งช้างศึกยังสร้างความหวาดกลัวให้เหล่าทหารและม้าที่ไม่เคยเห็นช้างมาก่อนด้วย ทำให้ทหารมาซีโดเนียตกใจจนคุมสติไม่อยู่จนเกิดความปั่นป่วนทั้งแนวรบ ขณะที่ทัพมาซิโดเนียกำลังจะปราชัย ช้างศึกของพระเจ้าโพรัส ก็ถูกแหลนของทหารมาซีโดเนียแทงได้รับบาดเจ็บสาหัส จนสลัดพระเจ้าโพรัสตกลงมาได้รับบาดเจ็บ ทหารมาซีโดเนีย ตรงเข้าจับตัวพระองค์ไว้ และสถานการณ์ก็กลับเป็นทัพมาซีโดเนียได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงไว้ชีวิตกษัตริย์โพรัสและให้ปกครองแคว้นปัญจาบต่อไป โดยมีกองทัพมาซีโดเนียคอยควบคุม
ถึงเวลานี้เหล่าทหารต่างต้องการจะเดินทางกลับและยื่นคำขาดว่าจะไม่เคลื่อนทัพต่ออีกแล้ว อเล็กซานเดอร์ทรงพิโรธมาก แต่ในที่สุดก็ยอมถอนทัพกลับ โดยพระองค์อ้างว่าเป็นเทวบัญชาจากเทพเจ้าเบื้องบน โดยอเล็กซานเดอร์ได้สั่งให้ นายพลนีอาร์คุส พระสหายนำทหารส่วนหนึ่งไปทางเรือ ขณะที่พระองค์นำทัพ 85,000 นาย เดินทางไปทางบก โดยระหว่างทางได้เข้าโจมตีหัวเมืองต่างๆตามรายทางที่ผ่านไป แต่ทุกเมืองล้วนยอมจำนนแต่โดยดี จนกระทั่งมาถึงเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งที่ไม่ยอมจำนน พระองค์จึงสั่งให้โจมตีทันที แต่ระหว่างรอจัดทัพ พระองค์ทรงรำคาญพระทัยกองทัพใหญ่ที่ชักช้าจึงเข้าโจมตีเมืองพร้อมทหารรักษาพระองค์สามคน เมื่อกองทัพใหญ่ตามไปถึงก็เห็นพระองค์ฟุบอยู่ภายใต้ศพที่ทับถมกันขององครักษ์ทั้งสามซึ่งมีลูกธนูปักเต็มร่าง แม้จะทรงปลอดภัยแต่การบาดเจ็บครั้งนี้ก็ทำให้สุขภาพของพระองค์แย่ลง และเมื่อกองทัพมาถึงทะเลทรายเจโดรเซีย (อยู่บริเวณพรมแดนอิหร่านและปากีสถาน) พระองค์ได้นำทัพข้ามทะเลทรายอันแห้งแล้ง ไพร่พลและสัตว์พาหนะขาดแคลนน้ำจนล้มตายลงเป็นอันมาก และระหว่างการเดินทัพครั้งนี้ได้มีทหารผู้หนึ่งไปหาน้ำมาได้และนำใส่หมวกเหล็กมาถวายพระองค์ อเล็กซานเดอร์ ไม่ยอมดื่มน้ำนั้น เมื่อทหารต่างก็อดน้ำ พระองค์ได้เทน้ำนั้นลงพื้นและประกาศว่า ข้าจะร่วมในความกระหายกับพวกเจ้า เมื่อเหล่าไพร่พลเห็นดังนั้นจึงมีกำลังใจกัดฟันเดินทางต่อจนพ้นเขตทะเลทราย อย่างไรก็ดีในการข้ามทะเลทราย ครั้งนี้อเล็กซานเดอร์สูญเสียรี้พลไปถึง 60,000 คน
ในปี 324 ก่อนคริสตกาล เมื่อเดินทางมาถึงเปอร์เซีย พระองค์ได้มีรับสั่งให้เกณฑ์ชายหนุ่มเชื้อสายขุนนางเปอร์เซียจำนวน 30,000 คน เข้ารับการฝึกยุทธวิธีรบแบบกรีก เพื่อมาทดแทนขุนนางมาซีโดเนียที่ล้มหายตายจากไป นอกจากนี้พระองค์ยังได้จัดให้มีการแต่งงานระหว่างทหารกรีก 10,000 คน กับหญิงสาวเปอร์เซีย 10,000 คน และนายทหารกับหญิงเปอร์เซียชั้นสูงอีก 80 คู่ ส่วนพระองค์เองก็ได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของกษัตริย์ดาริอุส ที่ 3 นามว่า เจ้าหญิงบาร์ซิน่า อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อผูกสัมพันธ์ระหว่างมาซีโดเนียกับเปอร์เซีย ในปีเดียวกันนั้นเอง เฮฟาสเทียนพระสหายสนิทได้ล้มป่วยและเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ อเล็กซานเดอร์ทรงโศกเศร้ามาก ในช่วงนี้พระพลานามัยของพระองค์แย่ลงมากกว่าเดิม ทั้งอาการบาดเจ็บจากแผลธนูและพิษสุราเรื้อรัง อันเป็นผลมาจากการที่ทรงดื่มหนักมาตลอด นอกจากนี้พระอารมณ์ยังแปรปรวนและเหี้ยมโหดยิ่งขึ้น
ในปี 323 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ได้เสด็จมายังนครบาบิโลน พระองค์สั่งให้ระดมพลโดยมีแผนการจะทำสงครามกับพวกอาหรับและอาณาจักรคาร์เธจ แต่อเล็กซานเดอร์ได้ประชวรกะทันหัน พระอาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว ข่าวลือแพร่ไปทั่วกองทัพว่าอเล็กซานเดอร์จะสวรรคต ทำให้เหล่าทหารต่างตื่นตระหนก แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระนิสัยที่แปรปรวนไปบ้างในระยะหลัง แต่เหล่าทหารจำนวนมากทั้งที่เป็นชาวมาซีโดเนียและชนชาติอื่นๆก็ยังรักและเคารพพระองค์อยู่ บรรดาไพร่พลต่างขอเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการ พระองค์ให้ทหารทุกคนเดินผ่านที่ประทับเข้ามาทำความเคารพ พวกเหล่าทหารต่างโศกเศร้าเมื่อทราบข่าวร้าย แม้จะตรัสอันใดไม่ได้ แต่อเล็กซานเดอร์ก็พยายามแสดงให้เหล่าทหารทราบว่าพระองค์ยัง จำพวกเขาได้ทุกคน และแล้วในวันที่ 10 มิถุนายน ปี 323 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ก็สวรรคต
จักรวรรดิของพระองค์ถูกแบ่งปันในหมู่แม่ทัพคนสำคัญ คือ คาสซานเดอร์ปกครองมาซีโดเนีย ไลซิมาคัสปกครองกรีก ปโตเลมีปกครองอียิปต์ อันติโกนัสปกครองเอเชียไมเนอร์ ส่วนซิลิวคัสปกครองซีเรียและเอเชียกลาง ทางด้านอินเดียนั้น พระเจ้าโพรัสนำกองทัพปัญจาบลุกฮือขับไล่กองทัพกรีกออกไปได้สำเร็จ
ทางด้านมาซีโดเนีย เจ้าหญิงร๊อกซาน่าพระชายาเอกของพระองค์ได้สังหารพระธิดาบาร์ซิน่าของกษัตริย์ดาริอุส ที่ 3 ผู้เป็นพระชายารองของอเล็กซานเดอร์อย่างเหี้ยมโหด ก่อนจะพาพระโอรสหนีไปอยู่กับพระนางโอลิมเปียส พระมารดาของอเล็กซานเดอร์ ทั้งสองพระองค์พยายามเรียกร้องสิทธิในบัลลังก์และขัดแย้งกับนายพลคาสซานเดอร์ แม่ทัพผู้ดูแลมาซีโดเนียจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองและในที่สุด ทั้งพระนางโอลิมเปียส เจ้าหญิงร๊อกซาน่าและพระโอรสก็ลอบถูกปลงพระชนม์จนหมดสิ้น และเป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ของอเล็กซานเดอร์ลง
แม้อเล็กซานเดอร์จะมีพระชนมายุสั้นเพียง 33 พรรษา และอาณาจักรของพระองค์แตกสลายในเวลาอันรวดเร็ว แต่พระนามของพระองค์ก็ได้รับการจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้ การสงครามของพระองค์ส่งผลให้อารยธรรมของกรีกแพร่มายังดินแดนตะวันออก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายด้าน ทั้งด้านศิลปะและปรัชญา อเล็กซานเดอร์ทรงได้รับการยกย่อง ดุจดังเทพเจ้าในตำนานโบราณ แต่พระองค์ก็คือมนุษย์ปุถุชนธรรมดาผู้หนึ่งที่มีทั้งด้านมืดและสว่าง เพียงแต่แสงสว่างของพระองค์ทรงเจิดจรัสมากกว่า และนั่นก็คือสาเหตุที่นามของอเล็กซานเดอร์มหาราชเกริกไกรมาจนทุกวันนี้
อาณาจักรเปอร์เซียและจักรวรรดินี้ได้ถูกปกครองโดยกษัตริย์
อเล็กซานเดอร์ มหาราช (Alexander the Great ปี 330-323 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์ฟิลิป ที่ 3 (Philip 3 ปี 323-317 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ ที่ 4 (Alexander 4 ปี 323-310 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์ซิลิวคัส ที่1 (Seleucus 1 ปี 312/305-281 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์อันติโอชัส ที่1 (Antiochus 1 ปี 291/281-261 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์อันติโอชัส ที่2 (Antiochus 2 ปี 261-246 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์ซิลิวคัส ที่2 (Seleucus 2 ปี 246-225 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์ซิลิวคัส ที่3 (Seleucus 3 ปี 225-223 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์อันติโอชัส ที่3 (Antiochus 3 ปี 223-187 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์ซิลิวคัส ที่4 (Seleucus 4 ปี 187-175 ก่อนคริสตกาล) กษัตริย์อันติโอชัส ที่ 4 (Antiochus 4 ปี 175-164 ก่อนคริสตกาล)
http//en.wikipedia.org/wiki/Alexander the great
โดย ประสม ปริปุณณานนท์ <[email protected]>