จักรวรรดิตีมูร์ (Timurid Dynasty)
ราชวงศ์ตีมูร์ เป็นราชวงศ์หนึ่งของจักรวรรดิเปอร์เชียของซุนนีย์มุสลิมในเอเชียกลาง ที่เดิมมาจากผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์เติร์ก-มองโกล (Turko-Mongol) ผู้ปกครองจักรวรรดิที่ครอบคลุมเอเชียกลางทั้งหมด อิหร่าน อัฟกานิสถาน และส่วนใหญ่ของปากีสถาน อินเดีย เมโสโปเตเมีย และ คอเคซัส จักรวรรดิตีมูร์ก่อตั้งขึ้นโดยตีมูร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เจ้าแห่งราชวงศ์ตีมูร์ บาบูร์ (Babur) ผู้ครองเฟอร์กานา (Ferghana) ก็เข้ารุกรานอินเดียและทำการก่อตั้งจักรวรรดิโมกุลที่ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของอนุทวีปอินเดีย จนกระทั่งมาเสื่อมโทรมลงในสมัยของออรังเซ็บ (Aurangzeb) เมื่อต้นคริสศตวรรษที่ 18 และถูกยุบอย่างเป็นทางการโดยบริติชราช หลังการปฏิวัติอินเดีย ค.ศ.1857
ตีมูร์ (Timur bin Taraghay Barlas/Tamerlane)
ตีมูร์ เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวตะวันตกว่า Tamerlane ตีมูร์เป็นขุนศึกที่มีเชื้อสายผสมระหว่างมองโกลและเติร์ก เป็นบุตรของมูฮัมหมัด ทาราเกย์ และนางเทกิน่า โมห์เบกิม เกิดวันที่ 8 เมษายน ปี ค.ศ.1336 ที่เมืองชาห์รีซาบซ์ (จังหวัดคาสห์คาดารโย/อุซเบกิสถานในปัจจุบัน) และเสียชีวิตเมื่อ 19 มกราคม ปี ค.ศ.1405 ที่เมืองออตราร์ ระหว่างที่ยกกองทัพไปยังจีน ตีมูร์ได้สถาปนาก่อตั้งจักรวรรดิตีมูร์ และราชวงศ์ตีมูร์ ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ.1370 เป็นผู้พิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง และซึ่งจะคงอยู่ต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 1857
ตีมูร์เป็นที่รู้จักที่ดีที่สุดในชื่อ ตีมูร์ อีแลง (Timur-e Lang) ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า Timur the Lame เนื่องจากเขาเคยได้รับบาดเจ็บที่ขาในการทำศึกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่ติมูร์ได้สมรสกับราชวงศ์ของเจงกีสข่าน ตีมูร์ได้เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น ตีมูร์ กูคานี (Timur Gukani) ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซียที่ดัดแปลงมากจากภาษามองโกล คำว่า kurugan หมายความว่า ลูกเขย นอกจากนี้ ชื่อของติมูร์ยังสามารถเขียนได้อีกหลายแบบด้วยกัน ได้แก่ Temur, Taimur, Timur Lenk, Timur-i Leng, Temur-e Lang, Amir Timur, Aqsaq Timur และชื่อภาษาอังกฤษว่า Tamerlane และ Tamburlaine นักประวัติศาสตร์คาดว่าผู้คนประมาณกว่า 17 ล้านคนล้มตายเนื่องจากการพิชิตของตีมูร์
ตีมูร์มีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูจักรวรรดิมองโกล ให้กลับมาเกรียงไกรอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามตีมูร์กลับเป็นผู้ที่ทำให้จักรวรรดิโกลเดนฮอร์ด ซึ่งเป็นจักรวรรดิย่อยของจักรวรรดิมองโกลพบกับความย่อยยับ ในระดับที่ไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้อีก โดยตีมูร์เป็นผู้มีชัยเหนือ ทอคตามิสห์ (Tokhtamysh) ข่านคนสุดท้ายของโกลเดนฮอร์ด และแม้ว่าตีมูร์จะถือว่าตนเองเป็นนักรบมุสลิม แต่สงครามที่สร้างชื่อให้เขา กลับกลายเป็นสงครามกับอาณาจักรมุสลิมต่างๆ
ตีมูร์เสียชีวิตในระหว่างการทำศึกกับจักรวรรด์จีนในช่วงราชวงศ์หมิง อย่างไรก็ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์กลับเขียนไว้ว่า เขาเป็นบุคคลของอาณาจักรหมิง และบุตรชายของตีมูร์เองชื่อ ชาห์ รุคห์ (Shah Rukh) ได้เดินทางไปจีนในปี ค.ศ.1420 ตีมูร์เป็นบุคคลแห่งความขัดแย้ง เนื่องจากเขาเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นทำลายแหล่งศิลปะและการเรียนรู้สำคัญๆหลายที่ด้วยกัน เช่น กรุงเดลี แบกแดด และดามัสกัส ตีมูร์ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่า อาเมียร์ (Amir) หรือตำแหน่งกษัตริย์ในโลกของมุสลิมเลย โดยตีมูร์ปกครองในนามของ Chingizid Khans ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านักโทษทางการเมืองของตีมูร์เอง
ตีมูร์ได้ใช้เวลาประมาณ 35 ปีในการทำสงครามต่างๆ เขาไม่ได้เป็นผู้ที่รวบรวมอาณาจักรเท่านั่น แต่ยังได้ขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาล มีอาณาบริเวณตั้งแต่ตุรกี ซีเรีย อิรัก คูเวต อิหร่าน คาซัคสถาน อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน ปากีสถาน อินเดีย และดินแดนคาสห์การ์ ในจีนในปัจจุบัน
ตีมูร์เป็นคนที่ได้รับทั้งการยกย่องและเกลียดชัง ผู้คนในแถบเอเชียกลางยกย่องเขาในฐานะที่เป็นผู้ปกครองที่นำความร่ำรวย ความมั่งคั่ง และอำนาจมาสู่ภูมิภาคแห่งนี้อย่างมาก แต่ผู้คนในโลกอาหรับ เปอร์
เซีย และอินเดียสาปแช่งเขา ในฐานะที่เขาเป็นผู้ทำลายอารยธรรม และได้ฆ่าผู้คนไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทุกวัฒนธรรมต่างก็ยอมรับในความสามารถในการศึกของเขา โดยในเปอร์เซียเขามักถูกเรียกว่า ตีมูร์ผู้ครองโลก (Teymour The Conqueror of The World)
ทาซเค้นท์ (Tashkent )
ทาซเค้นท์ เป็นจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำซีร์ ดาร์ยา (Syr Darya River) และภูเขาเทียนชาน (Tein Shan Mountains) ซึ่งมีพรม
แดนติดกับประเทศคีร์กีซสถาน ประเทศทาจิคสถาน จังหวัดเซอร์ดาริโอ และจังหวัดนามันกาน มีพื้นที่ประมาณ 15,300 กม. มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 4,500,000 คน
ทาซเค้นท์ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 เขต และมีเมืองทาซเค้นท์เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองและเมืองหลวงของประเทศ มีภูมิอากาศเป็นเหมือนแบบภาคพื้นทวีป อากาศอบอุ่นในหน้าหนาว และร้อนจัดในหน้าร้อนทรัพยากรธรรมชาติ เป็นพวกทองแดง ถ่านหิน โมลิบดีนัม สังกะสี แร่ทองแร่เงิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม กำมะถัน หินปูนและหินอัคนี ฯ
ทาซเค้นท์ เป็นจังหวัดที่ได้รับการส่งเสริมปรับปรุงในด้านเศรษฐกิจของประเทศ มีโรงงานด้านผลิตพลังงาน การทำเหมืองแร่ ถลุงโลหะ โรงงานทำปุ๋ย ผลิตภัณฑ์ทางเคมี ผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้า โรงงานทอผ้า โรงงานปั่นฝ้าย ผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร ฯ
นอกจากนั้นยังได้มีการส่งเสริมในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร โครงการชลประทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝ้ายและพวกปอ แต่พวกพืชธัญญาหาร ผลไม้ก็ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกันมาก เช่น แตงโม ส้ม แอปเปิล นอกจากนั้นก็เป็นพืชผักต่างๆ และที่สำคัญมากคือ เลี้ยงสัตว์ ทำปศุสัตว์ ฯ
ทาซเค้นท์ยังได้รับการส่งเสริมปรับปรุงในด้านการคมนาคม ซึ่งมีการสร้างทางรถไฟยาวประมาณ 360 กม.และปรับปรุงถนนหนทางต่างๆยาวประมาณ 3770 กม. รวมทั้งมีสนามบินนานาชาติ ซึ่งเป็นประตูไปสู่ประเทศต่างๆ
เมืองทาซเค้นท์
ทาซเค้นท์ เป็นเมืองหลวงของประเทศฯ และเป็นศูนย์กลางการปกครองของจังหวัดทาซเค้นท์ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่กลางเมือง มีพื้นที่ประมาณ 335 ตร.กม. มีประชากรที่ได้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการอาศัยอยู่ประมาณ 2,500,000 คน และถ้าไม่รวมถึงการลงทะเบียนก็จะมีประมาณถึง 4 ล้านคน
ทางด้านประวัติศาสตร์ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามา และในตอนเริ่มต้นของศาสนา ฯ เมืองและจังหวัดนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ ชาคห์ (Chach) ซึ่งวรรณคดีของเฟอร์ดอสซี่ ก็ได้อ้างถึงชื่อของเมืองนี้ และในเวลาต่อมาเมืองนี้ก็เป็นที่รู้จักกันในนามของ ชาคห์คานด์/ชาสห์คาน (Chachkand/Chashkand) ซึ่งหมายถึง เมืองชาคห์
ส่วนคำว่า ทาซห์ (Tash) ในภาษาเตอร์กิค หมายถึง หิน (Stone) ส่วนคำว่า คานด์/เค้นท์/คาทห์ (Kand/Kent/Kath) คำทั้งหมดหมายถึง เมือง (City) ซึ่งมาจากคำของพวกเปอร์เซียหรือพวกซ๊อกเดียน ซึ่งมีหมายถึง นครหรือเมืองใหญ่ (Town or City) ซึ่งพวกเขาได้ตั้งชื่อ เช่น ซามาร์คานด์ (Samarkand) ยาร์คานด์ (Yarkand) เพนจิเค้นท์ (Penjikent) คูจานด์ (Khujand) ฯ
ภายหลังศตวรรษที่ 16 ชื่อของเมืองได้ถูกเปลี่ยนจากชาคห์คานด์/ชาสห์คาน เป็น ทาซเค้นท์ มีความหมายว่า เมืองแห่งศิลา (The City of Stone) เมืองนี้ได้เริ่มต้นเป็นแบบโอเอซิส ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเชอร์ชิค ใกล้กับบริเวณเชิงเขาด้านตะวันตกของเทียนชาน ซึ่งในอดีตกาลบริเวณพื้นที่นี้เป็นเมืองสำหรับของพวกกังจูที่เป็นพันธมิตรกัน
ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซามานิด เมืองนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ บินคาทห์ (Binkath) แต่พวกอาหรับได้กลับไปใช้ชื่อเดิม คือ ชาคห์สำหรับบริเวณเขตรอบๆ และได้ออกเสียงเป็น อัล ชาสห์ (al Shash ) แทนคำเดิม แต่มาในสมัยของพวกเตอร์กิคจากคารา คานิด (Kara Khanid) ที่ได้ขึ้นปกครองในศตวรรษที่ 10 ก็ได้ใช้ชื่อว่า ทาซเค้นท์
ทาซเค้นท์เป็นเมืองเก่าแก่ และเป็นที่พักของขบวนคาราวานที่เดินทางผ่านเส้นทางสายไหม ต้องเผชิญกับการรุกรานจากจีน อาหรับ และถูกทำลายโดยการรุกรานของเจงกีส ข่าน เมื่อปี ค.ศ. 1219ในภายหลังทาซเค้นท์ถูกผนวกเป็นเขตหนึ่งของสหภาพโซเวียต และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โซเวียตได้ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก จากพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นสมรภูมิรบมายังทาซเค้นท์ รวมถึงประชากรรัสเซียอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งช่วงนี้ทาซเค้น์ท์มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนเป็นครั้งแรก
ในปีค.ศ.1966 ทาซเค้นท์ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (ความแรงประมาณ 7.5 ริกเตอร์) มีประชากรมากกว่า 3 แสนคนไม่มีที่อยู่อาศัย ในภายหลังโซเวียตจึงได้ฟื้นฟูทาซเค้นท์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้การวางผังเมืองที่ทันสมัย ซึ่งทำให้ทาซเค้นท์เป็นเมืองตัวอย่างของสหภาพโซเวียตอีกแห่งหนึ่ง ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 ทาซเค้นท์ถือเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของโซเวียต
หลังจากที่ได้เอกราชจากโซเวียตรัสเซีย ทาซเค้นท์ได้มีการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองมีตึกรามบ้านช่องมากมาย เป็นเมืองที่ใหญ่ประกอบไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางของการพาณิชย์ เป็นศูนย์กลางค้าขาย การขนส่ง และที่สำคัญเป็นศูนย์กลางของวัฒนะธรรมในเอเชียกลาง จากการที่เป็นจุดผ่านของเส้นทางสายไหมจากจีนสู่ยุโรปเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีโรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมากมายสำหรับการท่องเที่ยว
โซเรซม (Xorazm )
โซเรซม หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ จังหวัดโคเรซม (Khorezm Province) จังหวัดนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศบริเวณลุ่มแม่น้ำอามู ดาร์ยา ทางด้านตะวันตกมีพรมแดนติดกับประเทศเติร์กเมนิสถาน ทางด้านเหนือติดกับดินแดนปกครองตนเองคาราคัลปัคสถาน ส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ติดกับจังหวัดบูคาร่า มีพื้นที่ประมาณ 6,300 ตร.กม. และมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1,200,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 80 อาศัยอยู่นอกเมือง
จังหวัดโซเรซมแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 เขต มีเมืองอูร์เก้นห์เป็นศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด มีภูมิอากาศแบบกึ่งทะเลทรายในภาคพื้นทวีป มีอากาศที่แตกต่างกันอย่างมากในหน้าหนาวและหน้าร้อน
เศรษฐกิจของจังหวัดนี้ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการเพาะปลูกฝ้ายเป็นส่วนสำคัญ นอกจากนั้นยังมีการปลูกข้าวจ้าว ซึ่งให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกๆปี และยังมีการทำสวนผลไม้ ทำไร่ปลูกองุ่น แตงโม และมันฝรั่ง จังหวัดนี้ยังได้ปลูกแตงโมพันธุ์ กูร์แวค (Gurvak) ที่มีชื่อเสียงให้กับประเทศนี้ ส่วนทางด้านอุตสาหกรรม ก็มีโรงงานฝ้าย ทอฝ้าย ทำน้ำมันจากเมล็ดฝ้าย มีโรงงานทอผ้ามากที่สุด และยังมีโรงงานทอพรมซึ่งจะทำเป็นพรมของเปอร์เซียเพื่อการส่งออก
จังหวัดโซเรซมยังเป็นสถานที่กำเนิดของผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น อาบู เรย์ฮาน บิรูนี และอัล คะวาริซมี และยังได้มีการพัฒนาสร้างทางรถไฟยาวประมาณ130 กม.สร้างถนนยาวประมาณ 2,000 กม.
เมืองอูร์เก้นช์ (Urgench City)
อูร์เก้นช์ เป็นเมืองศูนย์กลางและการปกครองของจังหวัดโซเรสม ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำอามู ดาร์ยา และคลองชาวัท เมืองนี้อยู่ห่างจากบูคาร่าประมาณ 450 กม.ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 134,000 คน ปัจจุบันเมืองอูร์เก้นช์ได้ถูกสร้างตามแบบของโซเวียตในสมัยที่เข้ามาปกครองอยู่เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองคีว่าราว 35 กม.
บูคาร่า (Bukhara )
บูคาร่า เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ อยู่บนบริเวณของทะเลทรายไคซีล คุม ที่ได้ปกคลุมบริเวณพื้นที่ขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกับประเทศเติร์กเมนิสถาน ทางด้านตะวันออกและด้านติดกับจังหวัดนาวอย ส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ติดกับจังหวัดคัชห์คาดาริโอ และทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือติดกับจังหวัดโซราซมและสาธารณรัฐคาราคัลปัคสถาน มีเนื้อที่ประมาณ 40,300 ตร.กม. มีประชาการอาศัยอยู่ประมาณ 1,600,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 71 อาศัยอยู่นอกเมือง
บูคาร่าแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 เขต มีเมืองบูคาร่าเป็นศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด มีภูมิอากาศเป็นเหมือนแบบภาคพื้นทวีป และแห้งแล้งมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญโดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ แร่กราไฟท์ เบ็นโทไนท์ หินอ่อน กำมะถัน หินปูน และวัตถุดิบสำหรับการก่อสร้าง ฯ ที่ได้รับการส่งเสริมมากที่สุด คือ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปั่นฝ้าย โรงงานทอผ้า ฯ การหัตถกรรมเกี่ยวกับทอง การเย็บปักถักร้อย ทำเซรามิคส์ และบูคาร่าเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการเลี้ยงแกะพันธุ์ผสมคาราคูล ที่นำหนังไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ
เมืองบูคาร่า
บูคาร่า เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของจังหวัดบูคาร่า ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ของประเทศ ในอดีตเป็นเมืองโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นบนเนินเขาสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาในฤดูใบไม้ผลิ และยังเป็นเมืองที่กำเนิดงานเขียนของผู้ที่นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ เป็นที่อยู่ของบุคคลสำคัญ มีสุเหร่า อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน โรงเรียนสอนศาสนา ฯ และยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองในเทพนิยาย และที่สำคัญเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายที่มีชื่อว่า เส้นทางสายไหม และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.1993
บูคาร่าเป็นเมืองที่มีความใหญ่เป็นอันดับ 5 มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 250,000 คน ส่วนมากจะประกอบด้วยชนเผ่าทาจิกส และส่วนน้อยก็จะเป็นพวกยิวและชนชาติอื่นๆอีกด้วย
บูคาร่ามาจากคำของพวกซ๊อกเดียนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ที่มีความหมายว่า เมืองที่โชคดี (Lucky Place/ Place of Good Fortune) และยังมีความหมายที่มาจากคำสันสกฤตอีกว่า วิหารหรือวัด (Monastery) ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาที่มีการเผยแพร่ออกไปในขณะนั้น ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาในศตวรรษที่ 8
ซามาร์คานด์ (Samarkand)
เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศ อยู่ในแหล่งน้ำของแม่น้ำซาราฟชาน ทางด้านเหนือมีพรมแดนติดกับจังหวัดนาวอย ทางด้านใต้ติดกับจังหวัดคัสห์คาดาริโอ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจังหวัดจีซซัคห์ และทางตะวันออกเฉียงใต้ติดกับประเทศทาจิกิสถาน จังหวัดนี้มีพื้นที่ประมาณ 16,400 ตร.กม. มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 2,400,000 คน ซึ่งส่วนมากประมาณร้อยละ 75 อาศัยอยู่นอกเมือง
จังหวัดซามาร์คานด์ถูกก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1938 และถูกแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 14 เขต มีเมืองซามาร์คานด์เป็นศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 370,000 คน
ในอดีตกาลเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกซ๊อกเดียน และเป็นแคว้นหนึ่งในอาณาจักรเปอร์เซียที่ได้รับสมญานามว่า เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ของอารยัน และในปี 327 ก่อนคริสตกาลอเล็กซานเดอร์มหาราชได้เข้ามายึดครองและได้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า มารากานด้า (Marakanda) ต่อมาอเล็กซานเดอร์ได้รวมดินแบ๊กเทรียเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว จากนั้นในปี 248 ก่อนคริสตกาลก็ได้ตั้งอาณาจักรเกโก-แบ๊กเทรียนโดยมีผู้สำเร็จราชการดิโอโดทัสประมาณ 100 ปี และในปี 150 ก่อนคริสตกาลอาณาจักรแห่งนี้ก็ถูกยึดครองโดยชาวเร่ร่อนซิทเทียนที่อยู่ทางด้านเหนือและชาวยูซี (ต้นกำเนิดอาณาจักรกูษาณะ)
เมืองซามาร์คานด์
เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากทาซเค้นท์ เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และด้านวัฒนธรรมของประเทศ มีสถาบันที่สำคัญเกี่ยวกับโบราณคดี ทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการก่อสร้าง เช่น หินอ่อน หินแกรนิท หินปูน คาร์บอเนต และหินช๊อค มีการปลูกพืชและการเกษตรเป็นเศรษฐกิจหลักของจังหวัด เช่น ปลูกฝ้าย และพวกธัญญาหาร มีโรงงานผลิตเหล้าองุ่น การเลี้ยงไหม ทางด้านโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงถลุงเหล็กเพื่อทำเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ โรงงานผลิตอาหาร โรงทอผ้า และทำเซรามิค ฯ
ซามาร์คานด์ ได้รับสมญานามว่า เมืองแห่งโดมสีฟ้า (The City of Blue Domes) และเมืองแห่งตำนานนิยายหนึ่งพันหนึ่งอาหรับราตรี (Legend of 1001 Arabian Nights)และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกใน ปี ค.ศ. 2001
ซูร์คานดาริโอ (Surkhandaryo)
ซูร์คานดาริโอ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคใต้ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ ทางด้านเหนือติดกับจังหวัดคัสห์คาดาริโอ ทางด้านใต้มีพรมแดนติดกับประเทศเติร์กเมนิสถาน ส่วนด้านตะวันออกเฉียงใต้ติดกับประเทศทาจิกิสถาน และอัฟกานิสถาน จังหวัดนี้มีพื้นที่ประมาณ 20,100 ตร.กม. มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 2,000,000 คน ซึ่งส่วนมากประมาณร้อยละ 80 อาศัยอยู่นอกเมือง จังหวัดนี้มีชาวอุซเบกอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ 83 ประมาณร้อยละ 1 เป็นพวกทาจิกและที่เหลือเป็นชนเผ่าต่างๆ
ซูร์คานดาริโอ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 14 เขต และมีเมืองเทอร์เมซ เป็นศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 130,000 คน และมีเมืองเดเนา (Denau) ที่ใหญ่เป็นอันดับสอง มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 70,000 คน
ซูร์คานดาริโอ มียอดเขาชื่อ คาซราตี สุลตัน (Khazrati Sulton) อยู่ในเทือกเขากิสซาร์ ที่สูงที่สุดของประเทศ ความสูงประมาณ 4,643 เมตร มีภูมิอากาศเป็นเหมือนแบบภาคพื้นทวีป มีอากาศที่แตกต่างกันอย่างมากในหน้าหนาวและหน้าร้อน
มีทรัพยากรธรรมชาติที่รวมถึงน้ำมันปิโตเลียม ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ส่วนที่เสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับจังหวัดจะเป็นพวกอุตสาหกรรมเบา ส่วนใหญ่จะเป็นการทอฝ้าย ทอผ้า ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับบริโภค ส่วนการเกษตรมีการปลูกพืชเป็นเศรษฐกิจหลักของจังหวัด เช่น ปลูกฝ้าย และปลูกพืช รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ และมีอากาศดีที่สามารถจะปลูกอ้อยได้ด้วย
เทอร์เมซ (Termez )
เทอร์เมซ เป็นเมืองศูนย์กลางและการปกครองของจังหวัดซูร์คานดาริโอ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 150,000 คน เมืองนี้ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของจังหวัดติดกับพรมแดนประเทศอัฟกานิสถาน และเป็นที่กำเนิดของอาณาจักรกูษาณะอันยิ่งใหญ่ในด้านพระพุทธศาสนา
ชื่อของเมืองนี้คงจะมาจากการที่อเล็กซานเดอร์มหาราชได้มาที่นี่ และตั้งจากคำในภาษากรีกว่า เทอร์โมส (Thermos) ที่มีความหมายว่า ร้อน (Hot) หรืออาจจะมาจากคำสันสกฤตว่า ทารามาโต (Taramato) มีความหมายว่า ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ (On the river bank) คือเมืองนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอามูดาร์ยา (Amu Darya) ที่เป็นเส้นกั้นพรมแดนกันระหว่างอุซเบกิสถานและอัฟกานิสถาน ที่มีสะพานข้ามไปมาระหว่างสองประเทศ และยังได้ชื่อว่า เป็นเมืองที่ร้อนที่สุดของประเทศ
TIMUR TO UZBEKISTAN
by Haji Ismail Sloan
โดย ประสม ปริปุณณานนท์ <[email protected]>